แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ… และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว จากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้ แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเสียเช่นนั้นไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงิน 190,694,061 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 91,800,000 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์อาจให้เช่าได้อีกเดือนละ 121,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนเงินค่าที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ ศาลล่างทั้งสองเห็นพ้องกันในปัญหาข้อเท็จจริงว่า โจทก์ผู้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงรู้ถึงสิทธิของผู้ก่อการรบกวนขัดสิทธิอยู่แล้วในเวลาซื้อขายและวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ผู้ขายคือจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 476 โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่าเป็นผู้สุจริต จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่สุจริต แม้หนังสือพิมพ์รายวันจะลงข่าวเกี่ยวกับกรณีของพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้ว ตามหนังสือพิมพ์ก็ไม่อาจสันนิษฐานว่าประชาชนทุกคนรู้ข่าวนั้น ทั้งเป็นข่าวเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนไม่ใช่เรื่องการล้มละลาย เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้ว ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตามมาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ… และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองแล้วแต่กรณีจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว โดยเหตุรอนสิทธิในคดีนี้คือ การที่ที่ดินทั้งสองแปลงอาจถูกเพิกถอนการโอนได้ และโดยที่มาตรา 479 ใช้ถ้อยคำว่า “และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่” จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองต้องพิสูจน์ในทางยืนยันว่า ในเวลาที่ซื้อขาย โจทก์รู้เหตุนั้นอยู่แล้ว ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองก็ได้ต่อสู้ว่า ก่อนซื้อที่ดินทั้งสองแปลง โจทก์ได้ตรวจสอบและรู้แล้วว่าที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีความเป็นมาอย่างไร และรู้อยู่ด้วยว่าพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้วถูกฟ้องล้มละลาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และถูกพิพากษาล้มละลาย ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 เป็นพยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า ปี 2527 ถึง 2528 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับแชร์น้ำมันแม่นกแก้ว ที่พันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้วเป็นผู้ก่อตั้ง และต่อมาถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกงประชาชน หนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเรื่องนี้ให้ประชาชนทราบตามหนังสือพิมพ์รายวัน และพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้วถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด ซึ่งเมื่อตรวจดูหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 2, 4, 24 พฤษภาคม 2528 ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2528 ฉบับวันที่ 6 และ 11 กันยายน 2528 และฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2528 และหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 8 และ 24 พฤษภาคม 2528 มีข่าวเรื่องแชร์แม่นกแก้ว ลงติดต่อกันหลายฉบับเป็นเวลาหลายเดือน ส่วนเรื่องการซื้อที่ดินทั้งสองแปลง พยานดังกล่าวเบิกความว่า นายสมพร และนายวัฒนา กรรมการของโจทก์ในขณะนั้นได้ติดต่อพยาน เพื่อให้ช่วยหาที่ดินสร้างสถานีบริการน้ำมัน พยานจึงแนะนำให้ติดต่อจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งพยานโจทก์โดยนายรุจิภาส ทนายโจทก์ เบิกความว่า ขณะซื้อขายกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์คือ นายพูลผล บุตรของนายวัฒนา และเป็นการติดต่อผ่านมาทางนายวัฒนา พยานโจทก์อีกผู้หนึ่งคือ นายขจร กรรมการปัจจุบันของโจทก์ ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า บริษัทโจทก์มีฝ่ายกฎหมายตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ นายพูลผล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค ซึ่งโจทก์นำสืบว่า เป็นส่วนหนึ่งของค่าที่ดินทั้งสองแปลง เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนายรุจิภาสกับนายขจรเป็นพยาน แต่ทั้งสองคนก็เพียงแต่เบิกความตามเอกสาร ไม่ได้เป็นผู้รู้เห็นด้วยตนเองโดยตรงในเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะที่ตกลงซื้อขาย ส่วนพยานจำเลยทั้งสองคือจำเลยที่ 2 จากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยในขณะนั้นได้ทำตัวเป็นผู้ติดต่อแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงโดยผ่านทางนายวัฒนา กรรมการคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งมีความประสงค์จะซื้อที่ดินเพื่อสร้างสถานีบริการน้ำมันตามวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์ และโดยที่ในปี 2538 ขณะที่มีการติดต่อซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงกันนั้น นอกจากโจทก์จะมีฝ่ายตรวจสอบของตนเองที่สามารถตรวจสอบรายละเอียดที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้ในเบื้องต้นจนรู้ความเป็นมาของที่ดินทั้งสองแปลง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่ามีใครเป็นเจ้าของมาก่อนบ้างก่อนจะถึงมือของจำเลยที่ 1 ประกอบกับข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้วที่จำเลยทั้งสองอ้างส่งจะเป็นการลงข่าวในช่วงปี 2527 ถึง 2528 ในเวลาที่เกิดเหตุเกี่ยวกับแชร์น้ำมันซึ่งก็เห็นได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวครึกโครม มีความสำคัญ ส่งผลกระทบ กระเทือนต่อบุคคลจำนวนมากในหลายวงการ จึงน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน ประกอบกับลักษณะของข่าวและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแชร์น้ำมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินของผู้ที่นำเงินมาลงทุน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเช่นโจทก์ย่อมคาดเห็นได้ว่าในที่สุดแล้วผลจะลงเอยเช่นใด ดังนั้น แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 หลังจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวถึง 10 ปี ก็ไม่ใช่ข้อที่จะทำให้สงสัยและทำลายน้ำหนักทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า ในขณะซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ไม่รู้เหตุที่จะต้องถูกรอนสิทธิส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่แจ้งให้โจทก์ทราบในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดังวินิจฉัยข้างต้นจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 แม้หากจะได้นิ่งเสียเช่นนั้นก็ตามก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 162 พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รู้อยู่แล้วในเวลาที่ซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงว่ามีเหตุที่จะถูกรอนสิทธิได้ จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองแล้วแต่กรณีจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 479 ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยเพราะเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ดี จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดก็ดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ