แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน น.ส. ๓ ก. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (ที่ธรณีสงฆ์) ทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมในการรังวัด ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่าการออกโฉนดที่ดินดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท แต่ผู้อื่นออก น.ส. ๓ ก. ทับที่ดินของวัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับวัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๗/๒๕๕๘
วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ นายสุชาโณ ขาวสำลี ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่แตง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๗๙/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๑๗ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ ๑ งาน ๑๐ ตารางวา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๒๗๘๙ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่วัดสันป่าสัก (ที่ธรณีสงฆ์) โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมในการรังวัด เป็นเหตุให้มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ไม่สามารถขายหรือโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๒๗๘๙ ซึ่งออกทับที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๗ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลมีคำสั่งเรียกวัดสันป่าสัก และกรมที่ดินเข้ามาในคดีด้วยการร้องสอด โดยกำหนดให้วัดสันป่าสัก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และกรมที่ดิน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินได้ดำเนินการถูกต้อง ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๒๗๘๙ มีชื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ถูกนายสมบูรณ์ พรมมินทร์ ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๗ ทับที่ดินของวัด ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับวัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ออกทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๗ ของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทโฉนดที่ดิน ตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล โดยเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ การออกโฉนดที่ดินจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ในการพิจารณา และศาลปกครองจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีแต่ประการใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๗ เป็นของผู้ฟ้องคดี หรือเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๒๗๘๙ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (ที่ธรณีสงฆ์) โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมในการรังวัด เป็นเหตุให้มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๒๗๘๙ และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การทำนอง เดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๗๘๙ แต่ถูกผู้อื่นดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๗ ทับที่ดินของวัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับวัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสุชาโณ ขาวสำลี ผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่แตง ที่ ๑ วัดสันป่าสัก ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ