คำวินิจฉัยที่ 123/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยื่นฟ้องสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ฯ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ว่าออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากงานและยังพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังละเว้นไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ออกจากงาน ให้จ่ายเงินเดือน เงินค่าครองชีพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเงินอื่นใดที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับ กับให้จ่ายเงินเลื่อนขั้นประจำปีซึ่งค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า เมื่อข้อสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีลักษณะของข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๓/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ นายพิพัฒน์ ทองผดุงโรจน์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๒๑/๒๕๕๕ ความว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ต่อมาในปี ๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกคำสั่งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ ๘/๒๕๕๕ ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกรวม ๕ คน ออกจากงาน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยอ้างว่ามีการยุบเลิกส่วนงานบางส่วนตามโครงสร้างองค์กรเดิม จึงไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความจริงและเป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล แต่ข้อบังคับดังกล่าวก็ไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี กลับไม่ดำเนินการรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังคณะกรรมการบริหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนด การพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังละเว้นไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๘/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน ให้จ่ายเงินเดือน เงินค่าครองชีพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเงินอื่นใดที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับให้แก่ผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานตามปกติ กับให้จ่ายเงินเลื่อนขั้นประจำปีซึ่งค้างจ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ และข้อบังคับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๙ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การมหาชนที่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพและสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารแบบมุ่งสัมฤทธิ์ผล คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี การแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอยู่ระหว่างดำเนินการออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง เพื่อให้สามารถจ่ายประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ออกตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและเป็นองค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหน้าที่บริหารกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน การปิดงาน การงดจ้างและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อมีข้อพิพาทไม่จำต้องระงับข้อพิพาทโดยองค์คณะที่ประกอบด้วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างดังเช่นในคดีแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ฟ้องคดี จึงเป็นความสัมพันธ์ที่มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานบริการสาธารณะกับหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่ไม่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายเอกชน ข้อตกลงระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีคู่สัญญาฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำสัญญาจ้างบุคคลผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็เป็นเพียงวิธีการในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานอันเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการบริหารงานบุคคลตามที่คณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้การดำเนินการบริหารงานบุคคลเป็นไปด้วยความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ หาใช่เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สละอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองหรือยอมลดฐานะของตนลงในการเข้าทำสัญญาจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้มีฐานะเท่าเทียมกันกับพนักงานหรือลูกจ้างอันมีผลทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นสัญญาทางปกครองแต่อย่างใด เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยอ้างว่ามีการยุบงานบางส่วนตามโครงสร้างองค์กรเดิม ไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นคำขอที่เกี่ยวข้องกับสิทธิตามสัญญาทางปกครองระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับโจทก์เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เท่านั้น นอกจากนี้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ ไม่ได้ให้คำนิยาม กำหนดคุณสมบัติ และการพ้นตำแหน่งของที่ปรึกษาเหมือนเช่นกรณีเจ้าหน้าที่อื่นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังนั้น การจ้างจึงไม่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ แต่เป็นการกระทำในลักษณะเอกชน แม้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๘ บัญญัติว่ากิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ก็เป็นเพียงกำหนดไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับเท่านั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยอ้างว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินเดือน เงินค่าครองชีพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมเงินอื่นที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากงาน โดยอ้างว่ามีการยุบเลิกส่วนงานบางส่วนตามโครงสร้างองค์กรเดิม จึงไม่สามารถกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความจริงและเป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล แต่ข้อบังคับดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี กลับไม่ดำเนินการตามที่มาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังละเว้นไม่จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน ให้จ่ายเงินเดือน เงินค่าครองชีพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งเงินอื่นใดที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับให้แก่ผู้ฟ้องคดี กับให้จ่ายเงินเลื่อนขั้นประจำปีซึ่งค้างจ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๘ บัญญัติว่า กิจการขององค์การมหาชนไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเพียงกำหนดไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนมาใช้บังคับนั้น มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นสัญญาประเภทอื่น เพียงแต่กำหนดว่าไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยทั่วไป มิได้มีผลทำให้นิติสัมพันธ์ที่มีผู้ตกลงทำงานให้และมีผู้ตกลงจ่ายค่าจ้างไม่เป็นการจ้างแรงงานไม่ การที่จะวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อข้อสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีลักษณะของข้อสัญญาที่บัญญัติเป็นการทั่วไปในสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) อันอยู่ในอำนาจศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม และไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายพิพัฒน์ ทองผดุงโรจน์ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share