คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14934/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วมีระยะเวลาห่างกันเพียง 1 เดือนเศษ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้โดยเสน่หาจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว 1 ไร่ และต่อมาจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 ทั้งแปลง อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงต้องเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองเท่ากับจำนวนเนื้อที่ตามที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเนื้อที่เท่ากับเป็นการเพิกถอนการโอนทั้งแปลงย่อมเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 รับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ 16,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 รับชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือ 16,000 บาท แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามรูปแผนที่พิพาท ในกรอบเส้นสีเขียว เนื้อที่ 2 งาน 94 ตารางวา ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามรูปแผนที่พิพาท ในกรอบสีเขียว เนื้อที่ 2 งาน 94 ตารางวา ให้แก่โจทก์นั้น ขัดต่อข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 ส่วนรูปแผนที่พิพาท เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์จัดทำเสนอต่อศาลเพื่อกำหนดทุนทรัพย์ในคดีนี้โดยพื้นที่ในกรอบสีเขียวเป็นพื้นที่ที่โจทก์ถมดินเท่านั้น ยังคงเหลือพื้นที่อีก 1 งาน 6 ตารางวา ที่โจทก์ยังไม่ได้ถมเพราะเกรงว่าจะรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์โดยจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าโจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน จากจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 1 ไร่ มีอาณาเขตด้านทิศตะวันออกติดคลองชลประทาน ทิศเหนือติดถนนดำ (ทางสาธารณประโยชน์) กว้าง 15 วา ยาวตลอด ตามรูปแผนที่พิพาท ในราคา 60,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามรูปแผนที่พิพาท ในกรอบสีเขียว เนื้อที่ 2 งาน 94 ตารางวา ให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงยังไม่ครบ 1 ไร่ ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว 1 ไร่ และต่อมาจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 ทั้งแปลง อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงต้องเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองเท่ากับจำนวนเนื้อที่ตามที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเนื้อที่เท่ากับเป็นการเพิกถอนการโอนทั้งแปลง เป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ ให้จำเลยที่ 1 รับชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือ 16,000 บาทแล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามรูปแผนที่พิพาท เนื้อที่ 1 ไร่ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share