แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณีและให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อการกระทำการค้าประเวณีด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาคำว่า สถานการค้าประเวณีตามบทบัญญัติดังกล่าวอาจไม่มีอยู่จริงตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้หมายความเพียงแต่สถานที่อันมีไว้เพื่อค้าประเวณีโดยเฉพาะเช่น ซ่องโสเภณี แต่ยังให้หมายรวมถึงสถานที่ทั่วไปที่ยอมให้มีการค้าประเวณีหรือใช้ในการติดต่อจัดหาบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้าประเวณีอีกด้วย เช่น ในโรงแรม ร้านทำผม ร้านอาหาร และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกทั่วไปไม่รู้ว่ามีการค้าประเวณีแอบแฝง คงรู้แต่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นต้น การที่จำเลยที่ 1 พา น. ไปขายบริการทางเพศให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บังกะโล ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างรู้กันว่า บังกะโลนี้เป็นสถานที่ติดต่อสำหรับค้าประเวณีได้ แม้เจ้าของหรือผู้ควบคุมบังกะโลจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม สถานที่ดังกล่าวก็เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำชำเรา น. ในสถานการค้าประเวณีแล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 282, 319 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1149/2548 ของศาลชั้นต้น กับนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1865/2548 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง, 319 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำคุก 2 ปี จำนวน 3 กระทง ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี โดยหญิงนั้นยินยอมเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำนวน 3 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 21 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 14 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ฐานกระทำชำเราบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณีโดยบุคคลนั้นยินยอม จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 3 ปี เนื่องจากคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ต่อ ศาลยังมิได้พิพากษา จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 3 ปี ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นค้าประเวณี จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี 18 เดือน รวมทุกกระทง จำคุก 9 ปี 18 เดือน เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 ปี 12 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหากระทำชำเราบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นยินยอมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในกระทงที่เหลือตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า นางสาว น. อายุ 15 ปีเศษ เป็นบุตรของนาย ส. และนาง ง. พักอาศัยอยู่กับบิดามารดาและนาย ว. พี่ชาย ต่อมานางสาว น. ขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านแล้วหายตัวไป จนกระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียน นางสาว น. ได้กลับมาที่บ้านและในเดือนมกราคม 2548 นาย ส. บิดาทราบเรื่องจากนาย ถ. อาจารย์ฝ่ายปกครองของโรงเรียนว่า นางสาว น. มีพฤติการณ์ค้าประเวณี โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อบุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี ซึ่งคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย และเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นค้าประเวณี โดยจำเลยที่ 1 พานางสาว น. ไปขายบริการให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงถือว่าจำเลยที่ 1 พอใจในผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานกระทำชำเราบุคคลอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณีหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณีหรือยอมให้มีการค้าประเวณีและให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อการกระทำการค้าประเวณีด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาคำว่าสถานการค้าประเวณีตามบทบัญญัติดังกล่าว อาจไม่มีอยู่จริงตามกฎหมายเนื่องจากไม่ได้หมายความเพียงแต่สถานที่อันมีไว้เพื่อค้าประเวณีโดยเฉพาะเช่นซ่องโสเภณี แต่ยังให้หมายรวมถึงสถานที่ทั่วไปที่ยอมให้มีการค้าประเวณีหรือใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้าประเวณีอีกด้วย เช่น ในโรงแรม ร้านทำผม ร้านอาหารหรือสถานที่อื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกทั่วไปไม่รู้ว่ามีการค้าประเวณีแอบแฝง คงรู้แต่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นต้น คดีนี้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 พานางสาว น. ไปขายบริการทางเพศให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บังกะโล ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างรู้กันว่าบังกะโลนี้เป็นสถานที่ติดต่อสำหรับค้าประเวณีได้ แม้เจ้าของหรือผู้ควบคุมบังกะโลจะรู้เห็นยินยอมหรือไม่ก็ตาม สถานที่ดังกล่าวก็เข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำชำเรานางสาว น. ในสถานการค้าประเวณี ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารหรือไม่ โจทก์มีนางสาว น. เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานพักอยู่กับบิดามารดาและพี่ชาย ต่อมาพยานขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากบ้านไปหาจำเลยที่ 1 พร้อมกับนางสาว อ. ชวนกันไปหาจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อลูกค้าเพื่อค้าประเวณี จากนั้นในช่วงเดือนตุลาคม จำเลยที่ 2 ได้นัดพยานไปที่บังกะโลเพื่อร่วมหลับนอนโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้พาพยานไปส่ง ต่อมาพยานโทรศัพท์สอบถามว่ามีลูกค้าหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงพาพยานไปส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ร่วมหลับนอนอีก นาย ส. บิดาและนาย ว. พี่ชายของนางสาว น. เบิกความเป็นพยานต่อมาว่า นางสาว น. ขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากบ้าน พยานทั้งสองออกติดตาม แต่ไม่พบ ต่อมานางสาว น. กลับเข้ามาที่บ้านและทราบภายหลังว่าไปค้าประเวณีมา จึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า มีผู้พรากนางสาว น. บุตรสาวไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความว่า เคยซื้อบริการทางเพศกับผู้หญิงที่อายุกว่า 18 ปี โดยสังเกตจากรูปร่าง การแต่งหน้าแต่งตัว ไม่เคยซื้อบริการเด็ก และไม่ทราบว่านางสาว น. เป็นผู้เยาว์อายุต่ำกว่าสิบแปดปี เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อายุ 52 ปี และ 58 ปี โดยจำเลยที่ 3 รับราชการเป็นครูมาก่อน ทั้งสองคนผ่านโลกและมีประสบการณ์ในชีวิตพอสมควร ทั้งยังแต่งงานแล้วและมีบุตรด้วย ย่อมจะพิจารณาได้ว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุประมาณเท่าใด ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 สำคัญผิดในเรื่องอายุของนางสาว น. แต่อย่างใด กรณีหากเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก จะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุจูงใจให้สำคัญผิดโดยสุจริต มิใช่คาดคะเนเอาเอง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อแก้ตัวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำชำเราผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณี จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าได้นัดให้จำเลยที่ 1 นำผู้หญิงมาส่งที่บังกะโล โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ระบุว่าผู้หญิงนั้นจะมีอายุมากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประสงค์จะให้นำผู้เยาว์ซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีมาอันเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ถึง 319 ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล กฎหมายมิได้จำกัดว่าพรากโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองโดยผู้มีชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำก็ตาม ก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับนางสาว น. ผู้เยาว์ เดินทางมาพบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามที่นัดหมายแล้ว แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายชักชวนก็ตาม แต่หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมประเวณีนางสาว น. โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดามารดาของนางสาว น. ย่อมทำให้อำนาจปกครองของนาย ส. และนาง ง. บิดาและมารดาถูกพรากจากไปโดยปริยาย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก อยู่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น