คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329-5331/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่มีการทุจริต บางส่วนเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดของโจทก์ บางส่วนเป็นงบกลางอยู่ภายใต้การครอบครองดูแลของคลังจังหวัดอุบลราชธานี แต่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องทำฎีกาขอเบิกจากคลังจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 เมื่อคลังจังหวัดอุบลราชธานีจ่ายเงินให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เงินดังกล่าวก็อยู่ในความครอบครองดูแลของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ถ้ามีเงินเบิกเกินมาแล้วไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด ส่วนราชการผู้เบิกต้องนำส่งคืนคลังภายใน 15 วัน นับจากวันรับเงินจากคลัง ตามข้อ 53 วรรคสอง และข้อ 66 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน การที่มีการทุจริตไม่นำเงินที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายส่งคืนคลังจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการเบียดบังเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง
หนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุว่าให้ฟ้องผู้ใดบ้าง แต่การระบุให้ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุจริต หรือต้องชดใช้เงินคืนทุกเรื่องเกี่ยวกับการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ย่อมหมายความถึงดำเนินการฟ้องร้องหรือเรียกเงินคืนจากผู้ทุจริตหรือผู้ต้องรับผิดชอบคืนเงินที่เบียดบังเอาเงินงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบจนทราบตัวข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินของโจทก์ได้แล้ว
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ร่วมกันทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ตามสายงานต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 จะต้องรับผิดชอบเฉพาะการกระทำในส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 แต่ละคนได้กระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อเท่านั้น
การที่ผู้เบิกได้ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินเดือนโดยตรวจข้อความและหลักฐานของแต่ละฎีกาที่เสนอขึ้นมาให้ลงลายมือชื่อแล้วมีจำนวนเงินตรงกันกับหลักฐาน ไม่อาจถือได้ว่าผู้เบิกปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ตาม หากผู้เบิกที่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาเบิกเงินเดือนเป็นประจำหรือบ่อยครั้งอาจตรวจพบความผิดปกติในฎีกาเบิกเงินจากจำนวนเงินที่ขอเบิกสูงกว่าฎีกาอื่นอย่างมากและเป็นการเบิกซ้ำซ้อนกับที่เคยขอเบิกไปแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกา และรับผิดชอบตรวจสอบเงินที่เบิกมาจากคลังจังหวัด แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแทนจำเลยที่ 15 เฉพาะในกรณีที่จำเลยที่ 15 ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่า มีการเบิกเงินจำนวนสูงผิดปกติ และซ้ำซ้อนกับที่เบิกมาแล้วหรือไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ โดยไม่ใช้ความระมัดระวังและประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีอาวุโส รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแล้วยังต้องรับผิดชอบดูแลรักษาเงินการจ่ายเงิน หลักฐานการจ่ายเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดและตรวจสอบบัญชีเงินคงเหลือตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 การที่จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ได้มอบหมายให้สารวัตรการเงินและบัญชีดูแลรับผิดชอบโดยจะตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากไม่ได้รับรายงานเงินคงเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีจำนวนเงินที่ต้องส่งคืนคลังจังหวัดหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่เบิกมา ทำให้มีการทุจริตเบียดบังเอาเงินคงเหลือที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 17 เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ต้องดูแลรับผิดชอบผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและระเบียบแบบแผนของทางราชการการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตทำให้ราชการได้รับความเสียหาย แม้จะมีบุคคลหลายคนร่วมกันทำเป็นขบวนการ แต่ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 17 ไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 17 ทราบอยู่แล้วว่า มีเงินที่จะต้องเบิกจากคลังจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนและจ่ายให้แก่ผู้รับในวันสิ้นเดือนนั้น มีฎีกาเบิกเงินเดือน และฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ที่จะต้องทำฎีกาเบิกจากคลังจังหวัดภายในทุกวันที่ 15 ของเดือน แต่ละประเภทเดือนละ 1 ครั้ง และนำไปจ่ายให้แก่ข้าราชการในวันสิ้นเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2527 ซึ่งจำเลยที่ 17 เข้าดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีการทุจริตทำฎีกาไม่ปกติเบิกเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ทุกเดือนเสนอสลับไปกับฎีกาปกติเบิกเงินเดือน และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ตามปกติ ทำให้จำนวนฎีกาที่นำเสนอเบิกเงินจากคลังจังหวัดมีมากขึ้น จำนวนเงินที่ขอเบิกในแต่ละเดือนก็เพิ่มมากขึ้นกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ก่อนเข้ารับตำแหน่งจำเลยที่ 17 ก็ทราบบ้างแล้วถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่แผนการเงินและบัญชี จึงทำเรื่องเสนอขอให้กรมตำรวจย้ายจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรการเงินและบัญชีออกไป แต่ก็ไม่อาจย้ายได้โดยทันที ดังนั้น จำเลยที่ 17 จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบและลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกในแต่ละฎีกาให้เข้มงวดมากขึ้น แม้ข้อความและหลักฐานในฎีกาเบิกเงินที่เสนอให้จำเลยที่ 17 ลงลายมือชื่ออาจไม่พบข้อพิรุธหรือความผิดปกติ แต่จำเลยที่ 17 ควรต้องระแวงสงสัยว่าจำนวนฎีกาและจำนวนเงินรวมที่เสนอขอเบิกจากคลังจังหวัดมีจำนวนมากและสูงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 17 ยังต้องรับผิดชอบตรวจสอบบัญชีเงินสดและบัญชีเงินคงเหลือเพื่อดูแลรักษาเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดว่ายังมีเงินค้างจ่ายในแต่ละวัน แต่ละเดือน ที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายอันจะต้องส่งคืนคลังจังหวัดมากน้อยเพียงใด หากจำเลยที่ 17 ได้ทำการตรวจสอบเป็นปกติตามระเบียบการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ย่อมต้องทราบว่าเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดมาแล้วยังไม่มีการจ่ายมีมากน้อยเพียงใด เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจกระทำการทุจริต ทำฎีกาเท็จเบิกเงินซ้ำซ้อนแล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ของตนได้โดยง่าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ที่จำเลยที่ 17 ฎีกาว่า หลังจากทราบการกระทำผิด จำเลยที่ 17 ได้ติดตามยึดทรัพย์คืนได้จากผู้กระทำผิดจำนวนถึง 30 ล้านบาทเศษ จึงต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 17 ต้องรับผิด และหากรวมค่าเสียหายที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดจะเกินกว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ความรับผิดของจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่เกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการจะติดตามทรัพย์สินคืนได้เพียงใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17 ชอบที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นบังคับคดี
จำเลยที่ 11 เป็นคลังจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินทุกประเภทแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในวันหนึ่ง ๆ คลังจังหวัดต้องลงลายมือชื่ออนุมัติฎีกาประมาณ 100 ถึง 200 ฎีกา เป็นที่เห็นได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกานั้น จำเลยที่ 11 ต้องดำเนินการโดยรวดเร็วเพื่อให้การปฏิบัติราชการของส่วนราชการในจังหวัดอุบลราชธานีนำเงินไปใช้ในการบริหารงานในส่วนราชการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การตรวจอนุมัติฎีกาของจำเลยที่ 11 เป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายของการเสนอขอเบิกเงินจากคลังจังหวัดซึ่งแต่ละฎีกากว่าจะทำเสนอให้จำเลยที่ 11 ตรวจและลงลายมือชื่ออนุมัตินั้น ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากข้าราชการระดับล่างหลายขั้นตอนจนถึงผู้ช่วยคลังจังหวัด ซึ่งจะต้องตรวจสอบความถูกต้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอให้จำเลยที่ 11 อนุมัติ เห็นว่า การตรวจสอบก่อนลงลายมือชื่ออนุมัติ จำเลยที่ 11 จะต้องตรวจสอบว่ามีการลงลายมือชื่อครบถ้วนและถูกต้องในฎีกาเป็นลำดับหรือไม่ มีการแก้ไขจำนวนเงินหรือไม่ และจำนวนเงินที่ขอเบิกตรงกันกับใบหน้างบและเอกสารแนบท้ายฎีกาหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้อนุมัติฎีกาแล้ว การที่จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่ออนุมัติในฎีกาที่มีการตรวจผ่านตามลำดับขั้นตอน และตามระเบียบราชการ แม้จะเป็นฎีกาที่ไม่ปกติ ก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีหลายฎีกาที่นอกจากจำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้อนุมัติฎีกา จำเลยที่ 11 ยังได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจฎีกาแทนที่ผู้ช่วยคลังจังหวัดอีกฐานะหนึ่งด้วย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ในส่วนนี้ จำเลยที่ 11 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความยิ่งกว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อนุมัติฎีกาเพียงฐานะเดียว โดยเฉพาะฎีกาที่ไม่ปกติหลายฎีกาต่อเนื่องกัน หากตามพฤติการณ์จำเลยที่ 11 ควรทราบถึงความผิดสังเกตของฎีกาไม่ปกติแล้ว จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อตรวจผ่านและลงลายมือชื่ออนุมัติในฐานะคลังจังหวัดด้วยแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ
อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดนั้น ต้องนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหมายความถึงว่าผู้เสียหายต้องรู้ถึงความเสียหายด้วย รายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีนั้น มุ่งสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอาญาและการฟ้องร้องผู้กระทำผิดให้รับโทษทางอาญา ในรายงานการสอบสวนและบันทึกดังกล่าวไม่ปรากฏจำนวนความเสียหายว่ามากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับอายุความ 1 ปี อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับทราบรายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำการทุจริต
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 15 รับผิดสำนวนแรกโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 19,597,486.38 บาท ให้จำเลยที่ 17 และที่ 18 รับผิดสำนวนที่สอง โดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 40,271,015.97 บาท และให้รับผิดสำนวนที่สามโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 27,275,927.55 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 18 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทุกสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามสำนวนรวม 100,000 บาท นั้น เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยแต่ละคนร่วมรับผิดตามจำนวนเงินที่ฟ้องทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยกเป็นรายสำนวน ซึ่งมีผลให้จำเลยบางคนต้องร่วมรับผิดในสำนวนที่ไม่ถูกฟ้องหรือข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความไม่ปรากฏความรับผิดร่วมด้วย เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) รวมทั้งเพื่อความถูกต้องในการบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 18 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินในสำนวนแรกจำนวน 19,597,486.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 และที่ 16 ถึงที่ 18 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินในสำนวนที่สองจำนวน 40,271,015.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 14 จำเลยที่ 17 และที่ 18 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินในสำนวนที่สาม จำนวน 27,275,927.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 11 ถึง 18 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 ร่วมกันรับผิดชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 87,144,429.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องทั้งสามสำนวน (วันที่ 24 กันยายน 2530) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 10,043,730 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 59,868,502.35 บาท จำเลยที่ 11 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 37,508,383 บาท จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 35,896,273 บาท จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 47,772,920 บาท จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 19,796,433 บาท จำเลยที่ 15 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 4,959,920 บาท จำเลยที่ 16 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 2,349,540 บาท จำเลยที่ 17 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 67,546,823.52 บาท และจำเลยที่ 18 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 67,546,823.52 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 และที่ 18 ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 กันยายน 2530) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 18 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในแต่ละสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามสำนวนรวม 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่สาม ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 14 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 จำเลยที่ 16 และที่ 17 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา และจำเลยที่ 2 ที่ 16 และที่ 17 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์บางส่วน
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 17,796,433 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ (ที่ถูก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น)
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 ฎีกาโดยจำเลยทุกคนได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา แต่จำเลยที่ 12 ไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่กำหนด เป็นการทิ้งฟ้องฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายฎีกาจำเลยที่ 12
ศาลฎีกาวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในรัฐบาล ขณะเกิดเหตุมีพลตำรวจเอกณรงค์เป็นอธิบดีผู้มีอำนาจกระทำการแทน โดยมอบอำนาจให้เรือตรีดนัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างเดือนเมษายน 2525 ถึงเดือนกันยายน 2527 จำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นสารวัตรการเงินและบัญชี กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปี 2525 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 10 เป็นเจ้าหน้าที่แผนกการเงินและบัญชีของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 11 มีตำแหน่งเป็นคลังจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 12 เป็นผู้ช่วยคลังจังหวัด จำเลยที่ 13 และที่ 14 เป็นเจ้าหน้าที่การคลัง สำนักงานคลังจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 15 มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2526 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2527 จำเลยที่ 16 มีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปี 2525 ถึงเดือนธันวาคม 2528 จำเลยที่ 17 มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างเดือนตุลาคม 2527 ถึงเดือนธันวาคม 2528 และจำเลยที่ 18 มีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรการเงินและบัญชี กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างปี 2523 ถึงเดือนธันวาคม 2528 จำเลยที่ 15 และที่ 17 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 17 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 18 มีหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 18 ให้ปฏิบัติงานไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการควบคุมการจ่ายเงินและเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาเบิกเงินของทางราชการ ในกรณีที่จำเลยที่ 15 และที่ 17 ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยที่ 2 หรือที่ 16 จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนและเป็นผู้ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาต่าง ๆ แทน เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2526 ถึงเดือนกันยายน 2527 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่แผนกการเงินและบัญชี กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 15 ได้ร่วมกันจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตปลอมแปลงเอกสารราชการ ทำหลักฐานเท็จ จัดทำฎีกาเบิกเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนและเงินเพิ่ม เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) และเงินช่วยเหลือบุตรของข้าราชการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี รวม 164 ฎีกา เกินกว่าหลักฐานการจ่ายแล้วเบียดบังเงินที่เบิกเกินไปจำนวน 19,597,486.38 บาท โดยทุจริต โดยจำเลยที่ 15 ได้ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาเบิกเงินเดือนจำนวน 13 ฎีกา โดยประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อหน้าที่ ปล่อยให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตยักยอกเงินที่เบิกเกินกว่าหลักฐานการจ่ายไปเป็นเงิน 4,959,920 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม 2527 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2528 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลังและอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 16 และที่ 17 ได้ร่วมกันจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ปลอมแปลงเอกสารราชการทำหลักฐานเท็จ จัดทำฎีกาเบิกเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนและเงินเพิ่ม เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) และเงินช่วยเหลือบุตรของข้าราชการสังกัดกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี รวม 186 ฎีกา เกินกว่าหลักฐานการจ่าย แล้วเบียดบังเงินที่เบิกเกินไปจำนวน 40,271,015.97 บาท โดยทุจริต ต่อมาระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2528 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 18 ซึ่งมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินจากคลังและอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 17 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตปลอมแปลงเอกสารราชการ ทำหลักฐานเท็จ จัดทำฎีกาเบิกเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนและเงินเพิ่ม เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) และเงินช่วยเหลือบุตรข้าราชการสังกัดกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี รวม 77 ฎีกา เกินกว่าหลักฐานการจ่าย แล้วเบียดบังเงินที่เบิกเกินไปจำนวน 27,275,927.55 บาท โดยทุจริต วันที่ 10 มกราคม 2529 จำเลยที่ 17 เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานี ว่ามีการทุจริตขึ้นภายในกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี กองบังคับการตำรวจภูธรภาค 5 ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีพลตำรวจตรีปุณมาณเป็นประธานกรรมการสอบสวน ผลการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการเบิกเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) และเงินช่วยเหลือบุตรข้าราชการในกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างเดือนสิงหาคม 2526 ถึงเดือนธันวาคม 2528 คณะกรรมการสอบสวนได้ทำบันทึกรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนออธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาจังหวัดอุบลราชธานีโดยเรือตรีดนัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว มีนายประถม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานกรรมการ ผลการสอบสวนพบว่ามีการทุจริตเบิกเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค) และเงินช่วยเหลือบุตรข้าราชการในกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในลักษณะซ้ำซ้อนกันเดือนละหลายครั้ง แล้วนำเงินที่เบิกเกินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รวมเป็นเงินประมาณ 80,000,000 บาท โดยมีผู้ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง 18 คน รวมทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 18 ด้วย คณะกรรมการสอบสวนได้เสนอรายงานและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ทำรายงานเสนอให้อธิบดีกรมตำรวจรับทราบเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2529
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้เงินที่มีการทุจริตคดีนี้ บางส่วนเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดของโจทก์ บางส่วนเป็นงบกลางอยู่ภายใต้การครอบครองดูแลของคลังจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงการคลังก็ตาม แต่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จะต้องทำฎีกาขอเบิกจากคลังจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ.2520 เมื่อคลังจังหวัดอุบลราชธานีจ่ายเงินให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เงินดังกล่าวก็อยู่ในความครอบครองดูแลของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อนำไปใช้จ่ายตามภารกิจที่โจทก์ได้กำหนดไว้ และไม่ปลดเปลื้องความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลให้มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิ ถ้ามีเงินเบิกเกินมาแล้วไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด ส่วนราชการผู้เบิกต้องนำส่งคืนคลังภายใน 15 วัน นับจากวันรับเงินจากคลัง ตามข้อ 53 วรรคสอง และข้อ 66 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน การที่มีการทุจริตไม่นำเงินที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายส่งคืนคลังจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการเบียดบังเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 11 และที่ 17 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า กรมตำรวจโดยพลตำรวจเอกณรงค์ อธิบดีกรมตำรวจ ขอทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยเรือตรีดนัย มีอำนาจเป็นโจทก์ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตหรือต้องชดใช้เงินคืนทุกเรื่องเกี่ยวกับการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ มีความหมายว่า โจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง เป็นการแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีโดยตำแหน่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ ขณะยื่นฟ้องคดีนี้บุคคลใดดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีย่อมอยู่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว การที่เรือตรีดนัยซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความโจทก์โดยระบุตำแหน่งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ย่อมถือได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความโจทก์เพื่อดำเนินคดีนี้ถูกต้องตามหนังสือมอบอำนาจแล้ว แม้หนังสือมอบอำนาจจะมิได้ระบุว่าให้ฟ้องผู้ใดบ้าง แต่การระบุให้ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุจริต หรือต้องชดใช้เงินคืนทุกเรื่องเกี่ยวกับการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ย่อมหมายความถึงดำเนินการฟ้องร้องหรือเรียกเงินคืนจากผู้ทุจริตหรือผู้ต้องรับผิดชอบคืนเงินที่เบียดบังเอาเงินงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบจนทราบตัวข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินของโจทก์ได้แล้ว ถือว่าหนังสือมอบอำนาจมีความชัดเจนในการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแล้ว การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้จึงสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 11 ถึงที่ 17 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า แม้ตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี หรือรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจในสังกัดกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีรวมทั้งแผนกการเงินและบัญชีในกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ปฏิบัติงานอยู่ด้วย แต่ข้าราชการแต่ละคนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 ล้วนแต่รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณของโจทก์ ถือได้ว่าข้าราชการในสังกัดกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี แต่ละคนเป็นผู้แทนของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่แทนโจทก์ตามตำแหน่งและหน้าที่ของแต่ละคนที่ได้รับมอบหมายตามแผนงานและนโยบายของโจทก์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 15 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินจากคลังจังหวัดมาใช้จ่ายในกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ.2520 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 16 ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีหน้าที่ลงลายมือชื่อในฎีกาเป็นผู้เบิกเงินแทนในกรณีผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 3 เป็นสารวัตรการเงิน จำเลยที่ 18 เป็นรองสารวัตรการเงิน มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินของข้าราชการในกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีจำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำแผนกการเงินและบัญชี มีหน้าที่ร่วมกันจัดทำฎีกาเบิกเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) และเงินค่าช่วยเหลือบุตรข้าราชการ เสนอต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงิน แล้วรับเงินที่เบิกได้จากคลังจังหวัดมาใช้จ่ายตามแผนงานของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีตามนโยบายของโจทก์ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ร่วมกันทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ตามสายงานต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 จะต้องรับผิดชอบเฉพาะการกระทำในส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 แต่ละคนได้กระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาทั้ง 28 ฎีกา โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันได้ความว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีจากคลังจังหวัด ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ.2520 และระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการในภูมิภาคเป็นผู้เบิก แต่จะมอบหมายให้ข้าราชการในส่วนราชการนั้นเป็นผู้เบิกแทนได้อีกหนึ่งคน ในส่วนของการจ่ายเงินที่เบิกไปจะต้องมีหลักฐานการจ่ายไว้เพื่อการตรวจสอบ และให้ผู้เบิกลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องในหลักฐานการจ่ายทุกฉบับ พร้อมทั้งประทับตราจ่ายเงินและลงวัน เดือน ปีกำกับไว้ด้วย แสดงให้เห็นได้ว่า ระเบียบได้กำหนดให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 15 ให้เป็นผู้เบิกแทนอีกคนหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 จะทำหน้าที่เป็นผู้เบิกแทนเฉพาะในกรณีที่ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ นอกจากนี้ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลังดังกล่าวยังกำหนดไว้ว่า เงินประเภทใดมีลักษณะจะต้องจ่ายประจำเดือนในวันสิ้นเดือนโดยปกติให้วางฎีกาภายในวันที่สิบห้าของเดือนนั้น ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า เงินที่เบิกประจำเดือนของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนของเงินเดือนมีจำนวนเดือนละประมาณ 4,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท ส่วนเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) เดือนละประมาณ 500,000 บาท แต่ยังสามารถตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนหรือเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ได้อีกในส่วนของข้าราชการที่ย้ายมาใหม่ รวมถึงเงินตกเบิกด้วย ทั้งได้ความว่า ฎีกาเบิกเงินเดือนจำนวน 26 ฎีกา และฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) จำนวน 2 ฎีกา ที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้เบิกนั้น เป็นฎีกาที่ไม่ปกติ ทำรายการเบิกเงินอันเป็นเท็จ ซ้ำซ้อนกับที่เบิกไปแล้ว เป็นฎีกาประเภทเงินตกเบิก ซึ่งเดือนหนึ่งอาจทำฎีกาเบิกได้หลายครั้ง และแต่ละฎีกาจะเบิกเงินเป็นจำนวนหนึ่งแสนบาทขึ้นไป และได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า เหตุที่ตรวจพบความผิดปกติเนื่องจากไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินมาแสดง ซึ่งตามระเบียบผู้เบิกต้องตรวจสอบและส่งคืนคลังจังหวัด แต่ไม่มีการส่งคืน และฎีกาเงินเดือนประเภทเงินตกเบิกที่มีการเบิกปกติ จำนวนเงินที่เบิกแต่ละฎีกาประมาณหลักพันบาทถึงหลักหมื่นบาทเท่านั้น และจะมีหลักฐานการจ่ายเงินมาแสดงว่ามีการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินไปแล้ว ซึ่งการเบิกเงินประเภทนี้อาจทำฎีกาเบิกเงินได้เดือนละหลายครั้ง หากเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2526 กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีมีการทำฎีกาเบิกเงินประเภทนี้ทั้งสิ้น 8 ครั้ง ซึ่งเป็นฎีกาปกติ และในเดือนกันยายน 2526 ก็มีการตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนประเภทตกเบิกและฎีกาย่อย รวมกันถึง 27 ครั้ง มีฎีกาที่ไม่ปกติ 3 ฎีกา ฎีกาที่ปกติถึง 24 ฎีกา และเป็นการทำฎีกาเบิกเงินในวันเดียวกันคือ วันที่ 20 กันยายน 2526 ถึง 22 ฎีกา แต่สามารถสังเกตได้ชัดว่าฎีกาไม่ปกติจำนวน 3 ฎีกา มีจำนวนเงินที่ขอเบิกสูงกว่าฎีกาปกติมาก คือจำนวน 264,440 บาท 438,075 บาท และ 200,100 บาท ส่วนฎีกาปกติ 24 ฎีกา มีจำนวนเงินที่ขอเบิกสูงสุดในแต่ละฎีกาไม่เกิน 10,890 บาท นายมังกร ข้าราชการกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งคดีนี้ และนางสาวสุวัฒนา ข้าราชการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 3 ซึ่งตรวจสอบสืบสวนคดีนี้ พยานโจทก์เบิกความยืนยันตรงกันว่า หากตรวจดูเฉพาะฎีกาและหลักฐานที่เสนอให้ผู้เบิกลงลายมือชื่อแล้วจะไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบางฎีกามีการแก้ไขข้อความ โดยเฉพาะแก้จากฎีกาเบิกเงินประจำเดือนเป็นฎีกาเบิกเงินประเภทตกเบิก หลังจากที่ผู้เบิกได้ลงลายมือชื่อไปแล้ว ดังนั้น การที่ผู้เบิกได้ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินเดือนโดยตรวจข้อความและหลักฐานของแต่ละฎีกาที่เสนอขึ้นมาให้ลงลายมือชื่อแล้วมีจำนวนเงินตรงกันกับหลักฐาน ไม่อาจถือได้ว่าผู้เบิกปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ตาม หากผู้เบิกที่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาเบิกเงินเดือนเป็นประจำหรือบ่อยครั้งอาจตรวจพบความผิดปกติในฎีกาเบิกเงินจากจำนวนเงินที่ขอเบิกสูงกว่าฎีกาอื่นอย่างมากและเป็นการเบิกซ้ำซ้อนกับที่เคยขอเบิกไปแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกา และรับผิดชอบตรวจสอบเงินที่เบิกมาจากคลังจังหวัด แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแทนจำเลยที่ 15 เฉพาะในกรณีที่จำเลยที่ 15 ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สำหรับฎีกาเบิกเงินเดือนข้อเท็จจริงได้ความว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 ถึงเดือนกันยายน 2527 ในปีงบประมาณ 2527 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาเบิกเงินเดือนแทนจำเลยที่ 15 สองช่วง ช่วงแรกเบิกเงินเดือนแทนตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2526 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2527 รวม 7 ฎีกา โดยในวันที่ 23 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินแทน 2 ฎีกา คือฎีกาที่ 139/2527 เบิกเงินเดือนประเภทตกเบิกจำนวน 226,100 บาท ซึ่งเป็นฎีกาที่ไม่ปกติและมีการทุจริต และฎีกาที่ 140/2527 เบิกเงินเดือนประเภทประจำเดือนจำนวน 31,569 บาท ซึ่งเป็นฎีกาปกติ ในวันที่ 27 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเบิกเงินเดือน 2 ฎีกา คือฎีกาที่ 154/2527 เป็นประเภทฎีกาย่อยจำนวน 10,605 บาท และฎีกาประเภทฎีกาประจำเดือน คือฎีกาที่ 155/2527 จำนวน 19,418 บาท ซึ่งเป็นฎีกาปกติ ในวันที่ 10 มกราคม 2527 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเบิกเงินเดือนประเภทตกเบิก 1 ฎีกา คือฎีกาที่ 169/2527 จำนวน 382,700 บาท ซึ่งเป็นฎีกาที่ไม่ปกติและมีการทุจริต ในวันที่ 11 มกราคม 2527 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาประเภทประจำเดือน 2 ฎีกา คือฎีกาที่ 165/2527 เบิกเงินจำนวน 4,795,715 บาท และฎีกาที่ 166/2527 เบิกเงินจำนวน 632,296 บาท ซึ่งเป็นฎีกาปกติ ก่อนหน้านั้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2526 เป็นต้นมา และหลังจากนั้นจนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 15 เป็นผู้ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาตามปกติ จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเบิกเงินครั้งแรกในฎีกาที่ 139/2527 ประเภทตกเบิกจำนวน 226,100 บาท ซึ่งเป็นฎีกาที่ไม่ปกติ จำเลยที่ 2 ยังไม่เคยเข้าปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการเบิกเงินจากคลังจังหวัดแทนจำเลยที่ 15 มาก่อน ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จำเลยที่ 2 จะสังเกตเห็นว่าจำนวนเงิน 226,100 บาท เป็นจำนวนเงินที่สูงผิดปกติสำหรับฎีกาเบิกเงินเดือนประเภทตกเบิกหรือไม่ ทั้งเป็นการซ้ำซ้อนกับการเบิกครั้งก่อน ๆ หรือไม่ แม้จำเลยที่ 2 สามารถตรวจดูรายการเบิกเงินครั้งก่อน ๆ ได้จากสมุดคู่มือวางฎีกาเบิกเงินคลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่การเงินต้องนำเสนอมาให้ลงลายมือชื่อพร้อมกับฎีกาเบิกเงินเดือนก็ตาม แต่รายการในสมุดดังกล่าวลงรายการปรากฏลำดับที่ของฎีกา วัน เดือน ปี ประเภทของเงินและจำนวนเงินที่ขอเบิกเท่านั้น จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่าฎีกาที่ 139/2527 เป็นการเบิกเงินจำนวนสูงผิดปกติ และซ้ำซ้อนกับที่เบิกมาแล้วหรือไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฎีกาที่ 139/2527 โดยไม่ใช้ความระมัดระวังและประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวน 226,100 บาท ที่มีผู้ทุจริตเบียดบังเอาไป ส่วนฎีกาที่ 169/2527 เป็นฎีกาไม่ปกติจำนวนเงิน 382,700 บาท มีการแก้ไขช่วงเวลา แม้เป็นฎีกาประเภทตกเบิก แต่ปรากฏตามรายการเบิกว่าเป็นการตกเบิกเงินเดือนของข้าราชการจำนวน 8 นาย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2525 ถึงเดือนธันวาคม 2526 ช่วงเวลาตกเบิกเช่นเดียวกับฎีกาที่ 139/2527 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเบิกเงินไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2526 แตกต่างกันเพียงฎีกาที่ 139/2527 ปรากฏตามรายการเบิกว่าเป็นการตกเบิกเงินเดือนของข้าราชการจำนวน 6 นาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ควรจะสังเกตถึงความผิดปกติและควรดำเนินการตรวจสอบให้ยิ่งกว่าตรวจจากฎีกาและหลักฐานประกอบฎีกาที่เสนอขึ้นมาเพียงอย่างเดียว ถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ส่วนในช่วงที่สองจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 15 ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2527 เป็นระยะเวลานานถึงหกเดือนเบิกเงินเดือนตามฎีกาไม่ปกติ 24 ฎีกา และเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ไม่ปกติ 2 ฎีกา คือฎีกาที่ 380/2527 และฎีกาที่ 769/2527 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่กำหนดค่าเสียหายสำหรับ 2 ฎีกาให้ และข้อเท็จจริงฟังได้จากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 15 ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 15 ป่วยต้องไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประสาท ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีอาวุโส จึงต้องรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 2 ต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแล้วยังต้องรับผิดชอบดูแลรักษาเงินการจ่ายเงิน หลักฐานการจ่ายเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดและตรวจสอบบัญชีเงินคงเหลือตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 การที่จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ได้มอบหมายให้สารวัตรการเงินและบัญชีดูแลรับผิดชอบโดยจะตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากไม่ได้รับรายงานเงินคงเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีจำนวนเงินที่ต้องส่งคืนคลังจังหวัดหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่เบิกมา ทำให้มีการทุจริตเบียดบังเอาเงินคงเหลือที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าจะมีการปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในฎีกาบางฉบับตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ เมื่อความรับผิดเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบในฐานะหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวแล้ว จึงต้องรับผิดในเงินที่มีการเบียดบังไปโดยทุจริตในช่วงเวลาที่สองทั้งหมด รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดสำหรับฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ค.ช.) 2 ฎีกา จำนวน 267,300 บาท และสำหรับฎีกาเบิกเงินเดือน 25 ฎีกา จำนวน 9,917,630 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 10,184,930 บาท ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 17 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า จำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้มีผู้ทุจริตเบียดบังเงินงบประมาณของโจทก์ไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้จำเลยที่ 17 ร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวนที่มีผู้ทุจริตเบียดบังเอาไปตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่อยู่จำนวน 67,546,823.52 บาท จำเลยที่ 17 ฎีกาว่า การที่มีผู้ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป โดยจำเลยที่ 17 ไม่ได้รู้เห็น ทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้วถือเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 17 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 17 เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ต้องดูแลรับผิดชอบผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและระเบียบแบบแผนของทางราชการการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตทำให้ราชการได้รับความเสียหาย แม้จะมีบุคคลหลายคนร่วมกันทำเป็นขบวนการ แต่ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 17 ไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ปัญหาว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 17 มีตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบดูแลงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ควบคุมการเบิกและจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ.2520 และเงินที่เบิกออกจากคลังจังหวัดไปแล้วจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ดังนั้น จำเลยที่ 17 จึงมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการเบิกจ่ายและการเก็บรักษาเงินให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว จำเลยที่ 17 ทราบอยู่แล้วว่า มีเงินที่จะต้องเบิกจากคลังจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนและจ่ายให้แก่ผู้รับในวันสิ้นเดือนนั้น มีฎีกาเบิกเงินเดือนและฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ที่จะต้องทำฎีกาเบิกจากคลังจังหวัดภายในทุกวันที่ 15 ของเดือน แต่ละประเภทเดือนละ 1 ครั้ง และนำไปจ่ายให้แก่ข้าราชการในวันสิ้นเดือน เงินเดือนเป็นเงินเดือนละประมาณ 5,000,000 บาท เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) เป็นเงินเดือนละประมาณ 500,000 บาท แต่หากทำฎีกาเบิกเงินประจำเดือนไปไม่ครบถ้วนก็อาจทำฎีกาเบิกเงินเพิ่มเติมได้ หรือกรณีมีการตกเบิกก็อาจทำฎีกาเบิกเงินเกินกว่าเดือนละ 1 ครั้ง ก็ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2527 ซึ่งจำเลยที่ 17 เข้าดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีการทุจริตทำฎีกาไม่ปกติเบิกเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ทุกเดือนเสนอสลับไปกับฎีกาปกติเบิกเงินเดือน และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ตามปกติ ทำให้จำนวนฎีกาที่นำเสนอเบิกเงินจากคลังจังหวัดมีมากขึ้น จำนวนเงินที่ขอเบิกในแต่ละเดือนก็เพิ่มมากขึ้นกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ก่อนเข้ารับตำแหน่งจำเลยที่ 17 ก็ทราบบ้างแล้วถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่แผนการเงินและบัญชี จึงทำเรื่องเสนอขอให้กรมตำรวจย้ายจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรการเงินและบัญชีออกไป แต่ก็ไม่อาจย้ายได้โดยทันที ดังนั้น จำเลยที่ 17 จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบและลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกในแต่ละฎีกาให้เข้มงวดมากขึ้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอเป็นผู้ตรวจและลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินในฎีกาเบิกเงินทุกฎีกาในแต่ละเดือน จะเว้นเป็นบางวันและบางช่วงสั้น ๆ ที่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 16 จึงต้องตรวจลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกแทน ดังนั้น แม้ข้อความและหลักฐานในฎีกาเบิกเงินที่เสนอให้จำเลยที่ 17 ลงลายมือชื่ออาจไม่พบข้อพิรุธหรือความผิดปกติ แต่จำเลยที่ 17 ควรต้องระแวงสงสัยว่าจำนวนฎีกาและจำนวนเงินรวมที่เสนอขอเบิกจากคลังจังหวัดมีจำนวนมากและสูงผิดปกติดังที่ศาลล่างทั้งสองได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 17 ยังต้องรับผิดชอบตรวจสอบบัญชีเงินสดและบัญชีเงินคงเหลือเพื่อดูแลรักษาเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดว่ายังมีเงินค้างจ่ายในแต่ละวัน แต่ละเดือน ที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายอันจะต้องส่งคืนคลังจังหวัดมากน้อยเพียงใด หากจำเลยที่ 17 ได้ทำการตรวจสอบเป็นปกติตามระเบียบการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ย่อมต้องทราบว่าเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดมาแล้วยังไม่มีการจ่ายมีมากน้อยเพียงใด เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจกระทำการทุจริต ทำฎีกาเท็จเบิกเงินซ้ำซ้อนแล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ของตนได้โดยง่าย ไม่ว่าจำนวนเงินตามฎีกาไม่ปกติที่เบิกจากคลังจังหวัด จำเลยที่ 17 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อหรือมีจำเลยที่ 16 ลงลายมือชื่อเบิกเงินแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ จึงต้องรับผิดในส่วนเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ค.ช.) ในปีงบประมาณ 2528 สำนวนที่สองรวมจำนวน 40,270,215.97 บาท กับรับผิดในส่วนเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ค.ช.) ในปีงบประมาณ 2529 สำนวนที่สามจำนวน 25,660,530 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 17 ต้องรับผิดจำนวน 65,930,745.97 บาท แต่ที่จำเลยที่ 17 ฎีกาว่า หลังจากทราบการกระทำผิด จำเลยที่ 17 ได้ติดตามยึดทรัพย์คืนได้จากผู้กระทำผิดจำนวนถึง 30 ล้านบาทเศษ จึงต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 17 ต้องรับผิด และหากรวมค่าเสียหายที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดจะเกินกว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ความรับผิดของจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่เกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการจะติดตามทรัพย์สินคืนได้เพียงใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17 ชอบที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นบังคับคดี ฎีกาจำเลยที่ 17 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 11 ว่า จำเลยที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินเดือนและฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ ได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 11 ดำรงตำแหน่งคลังจังหวัดอุบลราชธานี มีอำนาจลงลายมือชื่ออนุมัติฎีกาเบิกเงินทุกประเภทที่ส่วนราชการในจังหวัดยื่นขอเบิกจากสำนักงานคลังจังหวัดอุบลราชธานีแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2526 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2528 กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี เสนอฎีกาเบิกเงินเดือน จำนวนทั้งสิ้น 222 ฎีกา จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินเดือนจำนวน 133 ฎีกา ซึ่งเป็นฎีกาไม่ปกติ มีการทำรายการอันเป็นเท็จ 25 ฎีกา ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2526 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2528 ส่วนฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 178 ฎีกา จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) จำนวน 113 ฎีกา เป็นฎีกาไม่ปกติมีการทำรายการเบิกเงินอันเป็นเท็จ 61 ฎีกา เห็นว่า จำเลยที่ 11 เป็นคลังจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินทุกประเภทแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 11 เบิกความว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกา จำเลยที่ 11 จะตรวจดูรายการทั้งหมดว่ามีการลงลายมือชื่อครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ มีการแก้ไขจำนวนเงินหรือไม่ จำนวนเงินที่ขอเบิกในฎีกาทั้ง 3 ฉบับ ที่เสนอให้ตรวจอนุมัติถูกต้องตรงกัน และตรงกับใบหน้างบหรือไม่ เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วก็จะลงลายมือชื่ออนุมัติในช่องผู้ว่าราชการจังหวัด หลังเกิดเหตุแล้ว กรมบัญชีกลางตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนคณะกรรมการมีความเห็นว่า คลังจังหวัดปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องแล้ว จากคำเบิกความของนายจรูญ พยานโจทก์ ซึ่งเคยรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยคลังจังหวัดอุบลราชธานีในช่วงเวลาเกิดเหตุได้เบิกความเจือสมคำเบิกความของจำเลยที่ 11 ว่า ส่วนราชการที่ยื่นฎีกาขอเบิกเงินจากคลังจังหวัดอุบลราชธานี มีมากกว่า 160 แห่ง และในวันหนึ่ง ๆ คลังจังหวัดต้องลงลายมือชื่ออนุมัติฎีกาประมาณ 100 ถึง 200 ฎีกา ดังนั้น เป็นที่เห็นได้ว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกานั้น จำเลยที่ 11 ต้องดำเนินการโดยรวดเร็วเพื่อให้การปฏิบัติราชการของส่วนราชการในจังหวัดอุบลราชธานีนำเงินไปใช้ในการบริหารงานในส่วนราชการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การตรวจอนุมัติฎีกาของจำเลยที่ 11 เป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายของการเสนอขอเบิกเงินจากคลังจังหวัดซึ่งแต่ละฎีกากว่าจะทำเสนอให้จำเลยที่ 11 ตรวจและลงลายมือชื่ออนุมัตินั้น ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากข้าราชการระดับล่างหลายขั้นตอนจนถึงผู้ช่วยคลังจังหวัด ซึ่งจะต้องตรวจสอบความถูกต้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอให้จำเลยที่ 11 อนุมัติ เห็นว่า การตรวจสอบก่อนลงลายมือชื่ออนุมัติ จำเลยที่ 11 จะต้องตรวจสอบว่ามีการลงลายมือชื่อครบถ้วนและถูกต้องในฎีกาเป็นลำดับหรือไม่ มีการแก้ไขจำนวนเงินหรือไม่ และจำนวนเงินที่ขอเบิกตรงกันกับใบหน้างบและเอกสารแนบท้ายฎีกาหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้อนุมัติฎีกาแล้ว เพราะเหตุที่มีฎีกาเสนอให้อนุมัติวันหนึ่งเป็นจำนวนกว่าร้อยฎีกา จึงยากที่จำเลยที่ 11 หรือคลังจังหวัดคนใดจะสามารถจดจำว่าส่วนราชการใดเบิกซ้ำซ้อนกันหรือเบิกแล้วเบิกใหม่อีกหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่ออนุมัติในฎีกาที่มีการตรวจผ่านตามลำดับขั้นตอนและตามระเบียบราชการ แม้จะเป็นฎีกาที่ไม่ปกติ ก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีหลายฎีกาที่นอกจากจำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้อนุมัติฎีกา จำเลยที่ 11 ยังได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจฎีกาแทนที่ผู้ช่วยคลังจังหวัดอีกฐานะหนึ่งด้วย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ในส่วนนี้จำเลยที่ 11 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฎีกาโดยละเอียด ยิ่งกว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อนุมัติฎีกาเพียงฐานะเดียว ดังนั้น หากจำเลยที่ 11 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบฎีกาแทนผู้ช่วยคลังจังหวัดอีกฐานะหนึ่ง โดยเฉพาะฎีกาที่ไม่ปกติหลายฎีกาต่อเนื่องกัน หากตามพฤติการณ์จำเลยที่ 11 ควรทราบถึงความผิดสังเกตของฎีกาไม่ปกติแล้ว จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อตรวจผ่านและลงลายมือชื่ออนุมัติในฐานะคลังจังหวัดด้วยแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 11 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายนั้นด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นอันดับสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 11 ที่ 14 และที่ 17 ว่า คำฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 11 และที่ 14 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า โจทก์ได้รับเรื่องการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีลงวันที่ 12 มีนาคม 2529 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วนั้น โจทก์ฟ้องคดีทั้งสามสำนวนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 เกินกำหนด 1 ปี คำฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวนจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดนั้น ต้องนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหมายความถึงว่าผู้เสียหายต้องรู้ถึงความเสียหายด้วย รายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีนั้น มุ่งสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอาญาและการฟ้องร้องผู้กระทำผิดให้รับโทษทางอาญา ในรายงานการสอบสวนและบันทึกดังกล่าวไม่ปรากฏจำนวนความเสียหายว่ามากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2529 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับทราบรายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำการทุจริตได้ ฎีกาของจำเลยที่ 11 และที่ 14 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 15 รับผิดสำนวนแรกโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 19,597,486.38 บาท ให้จำเลยที่ 17 และที่ 18 รับผิดสำนวนที่สอง โดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 40,271,015.97 บาท และให้รับผิดสำนวนที่สามโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 27,275,927.55 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 18 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทุกสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามสำนวนรวม 100,000 บาท นั้น เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่ง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยแต่ละคนร่วมรับผิดตามจำนวนเงินที่ฟ้องทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยกเป็นรายสำนวน ซึ่งมีผลให้จำเลยบางคนต้องร่วมรับผิดในสำนวนที่ไม่ถูกฟ้องหรือข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความไม่ปรากฏความรับผิดร่วมด้วย เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) รวมทั้งเพื่อความถูกต้องในการบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนแรกให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 19,597,486.38 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 10,184,930 บาท จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดจำนวน 13,500,010 บาท จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดจำนวน 267,300 บาท จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดจำนวน 6,704,215 บาท จำเลยที่ 15 ร่วมรับผิดจำนวน 4,959,920 บาท สำนวนที่สองให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 40,271,015.97 บาท โดยให้จำเลยที่ 11 ร่วมรับผิดจำนวน 11,414,790 บาท จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดจำนวน 9,694,873 บาท จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดจำนวน 24,002,880 บาท จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดจำนวน 833,760 บาท จำเลยที่ 17 ร่วมรับผิดจำนวน 40,270,215.97 บาท และสำนวนที่สามให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 18 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 27,275,927.55 บาท โดยให้จำเลยที่ 11 ร่วมรับผิดจำนวน 9,769,950 บาท จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดจำนวน 12,700,390 บาท จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดจำนวน 23,502,740 บาท จำเลยที่ 17 ร่วมรับผิดจำนวน 25,660,530 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 16 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 16 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 จำเลยที่ 17 และที่ 18 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในแต่ละสำนวนที่ต้องรับผิดในศาลชั้นต้นแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนแรก 20,000 บาท สำนวนที่สอง 50,000 บาท และสำนวนที่สาม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ

Share