แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 864,753 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทนำสินประภันกัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม ร่วมกันชำระเงิน 314,465.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 พฤษภาคม 2545) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 7231 ชัยนาท และรถบรรทุกพ่วงคันหมายเลขทะเบียน 80 – 3389 ชัยนาท โดยเอาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงดังกล่าวไปตามถนนมิตรภาพ และนำรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงดังกล่าวติดเครื่องยนต์จอดทิ้งไว้ในช่องทางด่วน นายดำรง ผู้ตายขับรถเก๋งคันหมายเลขทะเบียน ข – 6046 ขอนแก่น ของโจทก์ชนท้ายรถบรรทุกพ่วงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำพิพากษาคดีอาญาวินิจฉัยว่าความเสียหายคดีนี้เกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ตายที่ขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ถือว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงต้องมีส่วนรับผิดในความเสียหายส่วนหนึ่ง เช่นนี้หากถือเอาคำพิพากษาคดีอาญาเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งแล้ว เมื่อผลคำพิพากษาในคดีอาญาฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ความรับผิดในส่วนแพ่งที่ผู้ตายต้องรับผิดย่อมตกเป็นพับไปโดยผลของกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จะบัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่…” และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด…” และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยที่ 1 ประมาทมากกว่าและโจทก์ได้รับความเสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ประมาทมากกว่า และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก่อขึ้นและความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ความรับผิดในส่วนแพ่งมิได้ตกเป็นพับโดยผลของกฎหมายดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม แต่มิได้พิพากษาในเรื่องความรับผิดเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมใหม่ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมและชั้นฎีกาให้เป็นพับ