แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
งานวรรณกรรมซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศของผู้ประพันธ์ซึ่งเป็นคนชาติหรือคนในบังคับของประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญากรุงเบอร์ฉบับแรก ค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 29 และต่อมาตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 42 หากมิได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นภาษาไทยภายใน 10 ปี นับแต่การโฆษณางานเดิมเป็นครั้งแรก สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะแปลงแปลงานของตนเป็นภาษาไทยย่อมหมดสิ้นไป เมื่อปรากฏว่าจำเลยแปลงานดังกล่าวหลังจากนั้นจำเลยจึงมีลิขสิทธิ์ในงานที่แปลและไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 27, 31, 61, 69, วรรคสอง, 70, 75, 76 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 7 คดีไม่มีมูล ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 7
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ออกจากสารบบความ
โจทก์และจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงประกอบเอกสารแทนการสืบพยานและอ้างส่งเอกสารที่รับข้อเท็จจริงกันนั้นเป็นพยานแล้วขอให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่รับกันนั้นเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และ 69 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับ 200,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์ในการกระทำความผิดและพฤติการณ์ในการดำเนินคดีแล้ว เห็นว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 หนังสือของกลางให้ตกเป็นของโจทก์ จ่ายค่าปรับที่ชำระตามคำพิพากษาให้โจทก์กึ่งหนึ่ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดและความจำเป็นบางประการที่ยังไม่สมควรรับความผูกพันตามบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเบอร์ฉบับแก้ไข ณ กรุงเบอร์ลิน ค.ศ.1908 (Berlin Act 1908) อย่างเต็มที่ รัฐบาลไทยจึงแจ้งความประสงค์ไปยังองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) ผู้บริหารงานของสหภาพเบอร์นเพื่อขอใช้สิทธิวางข้อสงวน (reservations) รวม 6 ข้อ ที่จะไม่ผูกพันตามอนุสัญญากรุงเบอร์นฉบับแก้ไข ณ กรุงเบอร์นลิน ค.ศ.1908 โดยผูกพันตามอนุสัญญากรุงเบอร์นฉบับแรก ค.ศ.1886 และพิธีสารสุดท้ายของอนุสัญญากรุงเบอร์น ค.ศ.1886 (Berne Convention 1886) และอนุสัญญากรุงเบอร์นฉบับแก้ไข ณ กรุงปารีส ค.ศ.1896 (Paris Additional Act and Interpretative Declaration 1896) แทน ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงานวรรณกรรม ประเทศไทยตั้งข้อสงวนขอไม่ผูกพันตามมาตรา 8 (Article 8) แห่งอนุสัญญากรุงเบอร์น ฉบับแก้ไข ณ กรุงเบอร์น ค.ศ.1908 ซึ่งบัญญัติให้ประเทศภาคีต้องให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จากประเทศภาคีอื่นรวมไปถึงสิทธิของเจ้าลิขสิทธิ์ที่จะแปลหรืออนุญาตให้ผู้อื่นแปลงานของตนได้เพียงผู้เดียวด้วย แต่ขอผูกพันตามมาตรา 5 แห่งอนุสัญญากรุงเบอร์น ค.ศ.1886 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 1 ข้อ 3 (Article I Number 3) ของอนุสัญญากรุงเบอร์นฉบับแก้ไข ณ กรุงปารีส ค.ศ.1896 ซึ่งกำหนดว่า ผู้สร้างสรรค์งานซึ่งเป็นคนชาติหรือคนในบังคับของประเทศภาคีหรือตัวแทนโดยชอบของตนย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการแปลหรือมอบหมายให้มีการแปลงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนตลอดระยะเวลาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานเติม แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์งานมิได้ทำการโฆษณาการแปลผลงานของตนเป็นภาษาที่ต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศภาคีใดภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่การโฆษณางานเดิมเป็นครั้งแรก สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะแปลงานของตนเป็นภาษาดังกล่าวย่อมเป็นอันหมดสิ้นไป พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ได้นำข้อสงวนดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในมาตรา 29 ว่า “การรับประโยชน์แห่งสิทธิตามหมวดนี้ (หมวด 2 ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ) ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งวิธีการและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกฎหมายของประเทศที่เกิดแห่งวรรณกรรมหรือศิลปกรรมนั้นได้กำหนดไว้
(ข) ถ้าเป็นวรรณกรรมหรือนาฏกียกรรม เมื่อล่วงกำหนดสิบปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งโฆษณาไปแล้ว สิทธิที่จะห้ามมิให้ทำขึ้น ทำซ้ำ เล่นแสดงในที่สาธารณะหรือโฆษณาซึ่งคำแปลจะทรงไว้ได้ต่อเมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ให้อำนาจผู้อื่นแปลวรรณกรรมหรือนาฏกียกรรมนั้นในภาษาซึ่งต้องการจะป้องกันมิให้ผู้อื่นแปลและได้โฆษณาคำแปลนั้นแล้วภายในพระราชอาณาจักรก่อนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น” ซึ่งต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ออกมายกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 การให้ความคุ้มครองแก่ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 42 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่นๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” ซึ่งข้อสงวนเกี่ยวกับการแปลงานวรรณกรรมก็ได้นำมาบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ.2526 ซึ่งออกตามความในมาตรา 42 ดังกล่าวและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 มาตรา 5 วรรคสอง ว่า “ในกรณีที่เป็นวรรณกรรมหรือนาฏกรรม ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์มิได้จัดให้มีหรืออนุญาตให้ผู้ใดจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและโฆษณาคำแปลนั้นในราชอาณาจักรภายในสิบปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ได้มีการโฆษณาวรรณกรรมหรือนาฏกรรมดังกล่าวเป็นครั้งแรก ให้ถือว่าสิทธิที่จะห้ามมิให้ทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือโฆษณาซึ่งคำแปลในราชอาณาจักรเป็นอันสิ้นสุดลง” ปรากฏข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 รับกันว่า งานวรรณกรรมภาษาอังกฤษทั้ง 28 เรื่องตามฟ้อง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มิได้จัดให้มีหรืออนุญาตให้ผู้ใดจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและโฆษณาคำแปลนั้นในประเทศไทยภายใน 10 ปี นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ได้มีการโฆษณางานวรรณกรรมดังกล่าวเป็นครั้งแรก ดังนี้ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ห้ามผู้อื่นมิให้แปลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษ 7 เรื่อง เป็นภาษาไทยหรือโฆษณาซึ่งคำแปลเป็นภาษาไทยในประเทศไทยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี กล่าวคือ เมื่อพ้นปี 2509 พ้นปี 2511 พ้นปี 2512 พ้นปี 2514 พ้นปี 2515 พ้นปี 2517 และพ้นปี 2517 ตามลำดับ การแปลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษ 7 เรื่องนี้เป็นภาษาไทยในช่วงระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับอยู่ย่อมทำได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแปลของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อการแปลดังกล่าวเป็นการแปลโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้แปลได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานแปลเป็นภาษาไทยด้วยตนเองโดยต้องใช้ความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยประกอบด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดจนประสบการณ์ในการแปล ผู้แปลซึ่งปรากฏว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจึงได้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาไทย 7 เรื่อง โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จและมีอายุแห่งการคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อปีอีกเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย และผู้แปลย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานแปลนั้นตามมาตรา 4 มาตรา 6 มาตรา 13 และมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการแปลวรรณกรรมภาษาอังกฤษทั้ง 7 เรื่องเป็นภาษาไทย เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากผู้แปลวรรณกรรมทั้ง 7 เรื่องนั้นให้ทำซ้ำโดยจัดพิมพ์หนังสือที่แปลเป็นภาษาไทย 7 เรื่องนี้และนำหนังสือที่จัดหนังสือพิมพ์ขึ้นนั้นออกจำหน่ายได้โดยไม่จำกัดจำนวนในช่วงปี 2533 ถึงปี 2538 การที่จำเลยที่ 1 ขายและเสนอขายหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทย 7 เรื่องนี้ซึ่งมีการจัดพิมพ์ขึ้นดังกล่าวและยังเหลืออยู่เมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2539 ถึงเดือนธันวาคม 2539 จึงมิใช่การขายและเสนอขายงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ย่อมไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เช่นกัน
การแปลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษ 7 เรื่องเป็นการแปลในช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ.2526 มีผลใช้บังคับอยู่และสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแปลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษ 7 เรื่องเป็นภาษาไทยในประเทศไทยได้ระงับสิ้นไปแล้วเพราะโจทก์มิได้จัดให้มีหรืออนุญาตให้ผู้ใดจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและโฆษณาคำแปลนั้นในประเทศไทยภายใน 10 ปี นับแต่วันสิ้นปฏิทินของปีที่ได้มีการโฆษณาวรรณกรรม 7 เรื่องนี้เป็นครั้งแรก ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว การแปลงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษทั้ง 7 เรื่อง เป็นภาษาไทยย่อมทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์และเป็นการแปลโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ผู้แปลซึ่งปรากฏว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์งานแปลนั้น จึงมีลิขสิทธิ์ในงานแปลดังได้วินิจฉัยข้างต้น และผู้แปลวรรณกรรมภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยทั้ง 7 เรื่อง ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลงนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยหรือไม่ก็ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 4 มาตรา 6 มาตรา 13 และมาตรา 1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการแปลวรรณกรรมดังกล่าว การที่ผู้แปลวรรณกรรมเป็นภาษาไทยทั้ง 7 เรื่อง ทุกคนได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือที่แปลเป็นภาษาไทย 7 เรื่อง นั้น และนำออกจำหน่ายได้โดยไม่จำกัดจำนวนในช่วงปี 2533 ถึงปี 2538 เป็นสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำซ้ำและนำออกโฆษณาซึ่งงานแปลที่ผู้แปลได้ดัดแปลงขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิตามสัญญานั้นที่จะทำซ้ำและนำออกโฆษณาซึ่งงานแปลดังกล่าวได้ การทำซ้ำและนำออกโฆษณาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำต่องานสร้างสรรค์วรรณกรรมที่แสดงออกในรูปแบบที่เป็นภาษาไทยโดยตรง มิได้กระทำต่องานสร้างสรรค์วรรณกรรมต้นฉบับที่แสดงออกในรูปแบบที่เป็นภาษาอังกฤษของโจทก์แต่อย่างใด สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาอังกฤษของโจทก์ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีอยู่อย่างไร ก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้น สิทธิแต่เพียงผู้เดียวดังกล่าวของโจทก์หาได้ถูกกระทบกระเทือนไม่ กล่าวคือ หากจำเลยที่ 1 จะทำซ้ำและนำออกโฆษณาซึ่งงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาอังกฤษของโจทก์ในขณะที่งานวรรณกรรมของโจทก์ยังมีอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องขออนุญาตจากโจทก์มิฉะนั้นจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 เจตนาจะทำซ้ำและนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนเฉพาะงานวรรณกรรมที่แสดงออกในรูปแบบที่เป็นภาษาไทย มิได้เจตนาที่จะทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาอังกฤษของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องขออนุญาตจากโจทก์ หากให้จำเลยที่ 1 ต้องขออนุญาตจากโจทก์ในการทำซ้ำและนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานแปลเป็นภาษาไทย ผลก็จะกลายเป็นว่าโจทก์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาอังกฤษของโจทก์เกินกว่าขอบเขตแห่งสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองตามมาตรา 13 ดังกล่าว กล่าวคือ มีผลเท่ากับเป็นการขยายขอบเขตแห่งสิทธิให้โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำและนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานแปลวรรณกรรมเป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์งานแปลนั้นและสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ที่จะแปลงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยของตนในประเทศไทยและสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นแปลวรรณกรรมนั้นเป็นภาษาไทยในประเทศไทยได้ระงับสิ้นไปแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในงานวรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาไทยในกรณีเช่นนี้ การทำซ้ำและนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมเป็นภาษาไทยของจำเลยที่ 1 โดยได้รับอนุญาตจากผู้แปลซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแปลนั้นจึงเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของสิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาอังกฤษอีก การที่จำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานแปลเป็นภาษาไทยดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 1 นำงานแปลที่ทำซ้ำขึ้นโดยชอบนั้นออกขายและเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
อนึ่ง แม้หนังสือแปลเรื่อง ฆ่าเพราะรัก และเรื่อง คดีเงียบ ที่เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการสืบสวนคดีเศรษฐกิจได้ยึดไว้จะเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่การที่จะสั่งให้หนังสือดังกล่าวตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้นั้น หนังสือดังกล่าวต้องยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 70 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 70 ดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องอาจสั่งให้หนังสือแปลทั้งสองเรื่องนั้นตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด.