คำวินิจฉัยที่ 14/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่วัดฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและที่ดินรอบวัดก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีนำรถแบ็กโฮเข้าทำถนน และมีการตัดต้นไม้ที่ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกไว้ กับมีการลักหน้าดินลูกรังไปถมทำถนน อันเป็นการกระทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และให้ทางพิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้บุกรุกที่ดิน เนื่องจากทางพิพาทเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรมานาน และไม่ได้ลักหน้าดินลูกรังมาถมถนน จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๘

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดชัยนาท

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม) ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลบ้านเชี่ยน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙๓/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินภูเขาสารพัดดีและที่ดินรอบวัดซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดที่ดินแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับโฉนดที่ดิน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐหรือ กบร. ประจำจังหวัดชัยนาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติรอบๆ ทางพิพาทด้านนอกกำแพงวัดที่อยู่ในรัศมีเขาสารพัดดีทั้งสองข้างทาง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้รับเหมาสร้างถนนโดยผู้รับเหมาได้นำรถแบ็กโฮและเครื่องจักรเข้าทำถนนในที่ดิน และมีการตัดต้นไม้ที่ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกไว้ทั้งสองข้างทาง กับมีการลักหน้าดินลูกรังไปถมทำถนนซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ออกคำสั่งต้องร่วมรับผิดในการจงใจหรือประมาทเลินเล่อจากการกระทำละเมิดของผู้รับเหมาที่สร้างถนน ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำลายต้นไม้และจากการลักหน้าดินลูกรังของผู้รับเหมามาถมถนน พร้อมดอกเบี้ย โดยให้ทางพิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ทำถนนผิดเส้นทางและไม่ได้บุกรุกที่ดิน เนื่องจากที่ดินที่ทำถนนทางพิพาทเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้เดินทางสัญจรมานานราว ๖๐-๗๐ ปีแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือหนังสือแจ้งการครอบครองหรือหลักฐานใดๆ ของทางราชการมายืนยันถึงสิทธิครอบครองที่ดินที่ทำถนนในทางพิพาทดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทำถนนทางพิพาทจากความต้องการของประชาชนเพื่อให้สามารถเดินทางสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกปลอดภัยโดยใช้งบประมาณส่วนตัวของนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของแผ่นดินหรือราชการส่วนท้องถิ่น ผู้รับเหมาทำถนนไม่ได้ลักหน้าดินลูกรังมาถมถนนอันเป็นเหตุให้ต้นไม้ที่ผู้ฟ้องคดีปลูกไว้ได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำละเมิดของผู้รับเหมาสร้างทำถนนแก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๗๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ บัญญัติให้เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำในเขตเทศบาล ดังนั้น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างถนนในเขตเทศบาลอันเป็นการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในเขตเทศบาลของผู้ถูกฟ้องคดี แม้จะใช้งบประมาณการดำเนินการก่อสร้างจากส่วนใดก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนผิดเส้นทางบุกรุกเข้ามาในทางส่วนบุคคลที่ผู้ฟ้องคดีสร้างขึ้น ทำให้ป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติที่ผู้ฟ้องคดีปลูกไว้สองข้างทางได้รับความเสียหาย อีกทั้งผู้รับเหมาของผู้ถูกฟ้องคดียังลักลอบตักหน้าดินลูกรังบนที่ดินของผู้ฟ้องคดีไปถมถนน เป็นเหตุให้หน้าดินและต้นไม้ของผู้ฟ้องคดีเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าสินไหมทดแทนจากการทำลายป่าไม้ จำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท กับชำระค่าสินไหมทดแทนจากการลักหน้าดินของผู้รับเหมา จำนวน ๑๒๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชัยนาทพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้การฟ้องคดีนี้จะเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการสร้างทำถนนในทางพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามีสิทธิครอบครองในที่ดินอันถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองระหว่างเอกชนกับหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามีสิทธิครอบครองที่ดินที่สร้างทำถนนพิพาทโดยชอบ และผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินที่สร้างทำถนนพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ทางพิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินที่สร้างทำถนนพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นเกี่ยวกับความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป ดังนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินภูเขาสารพัดดีและที่ดินรอบวัดก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแล้วแต่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้รับเหมาสร้างถนนโดยนำรถแบ็กโฮและเครื่องจักรเข้าทำถนนในที่ดิน และมีการตัดต้นไม้ที่ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกไว้ทั้งสองข้างทาง กับมีการลักหน้าดินลูกรังไปถมทำถนนซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำลายต้นไม้และจากการลักหน้าดินลูกรังมาถมถนน พร้อมดอกเบี้ย โดยให้ทางพิพาทเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้บุกรุกที่ดิน เนื่องจากที่ดินที่ทำถนนทางพิพาทเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรราว ๖๐-๗๐ ปีแล้ว และผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือหนังสือแจ้งการครอบครองมายืนยันถึงสิทธิครอบครองที่ดินที่ทำถนนทางพิพาท ผู้รับเหมาไม่ได้ลักหน้าดินลูกรังมาถมถนนอันเป็นเหตุให้ต้นไม้ที่ผู้ฟ้องคดีปลูกไว้ได้รับความเสียหาย จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม) ผู้ฟ้องคดี เทศบาลตำบลบ้านเชี่ยน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share