คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ สัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบ้าน 4 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับเงินอีก 10,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ยอมรับส่วนแบ่งดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจากจำเลยอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากบ้าน 4 หลังดังกล่าวแล้ว ยังมีบ้านอีก 7 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง หากเป็นการสละมรดกก็เป็นการสละเพียงบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกดังกล่าวเป็นการสละมรดก และโจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยไปยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลังแล้วได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท โดยโจทก์แสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 ตอนท้าย และมาตรา 850 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 22565 ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน (ตลาดใหม่) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) เนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่โจทก์ หากแบ่งไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากปรากฏว่าจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวเท่าส่วนที่ตนจะได้รับหรือมากกว่า ขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกและให้ตกแก่โจทก์ฝ่ายเดียว หากปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ ขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ปิดบังและให้ตกแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 22565 ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน (ตลาดใหม่) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) เนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่โจทก์ หากแบ่งไม่ได้ ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ จำเลย และนายชมเป็นบุตรของนายชิตกับนางพร้อม เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2520 นายชิต เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกมีเพียงโจทก์กับจำเลย ส่วนทายาทอื่นเสียชีวิตและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือบ้าน 11 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินวัดเทพากร แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร กับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 22526 ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน (ตลาดใหม่) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) เนื้อที่ 10 ไร่ ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2520 โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่า จำเลยยอมยกบ้าน 4 หลัง และเงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดก ครั้นวันที่ 22 มิถุนายน 2520 จำเลยยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลัง ตามหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หลังจากนั้นวันที่ 19 กรกฎาคม 2522 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท และเจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2520
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์สละมรดกในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้ สัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า ข้อ 1 จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบ้านจำนวน 4 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดเทพากร กับเงินอีก 10,000 บาท ให้โจทก์ ข้อ 2 โจทก์ยอมรับส่วนแบ่งดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจากจำเลยอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากบ้านดังกล่าวแล้ว ยังมีที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่งด้วย แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงที่ดินพิพาท หากเป็นการสละสิทธิก็เป็นการสละสิทธิบางส่วน ถือไม่ได้ว่าสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกดังกล่าวเป็นการสละมรดกตามนัยบทบัญญัติข้างต้น และโจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงได้ความจากนางสาวจริยาพร ผู้รับมอบอำนาจและเป็นบุตรสาวของโจทก์เบิกความว่า หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยเสนอให้บ้าน 4 หลัง แก่โจทก์ โดยแจ้งว่าที่ดินรอไว้พูดคุยในภายหลัง โจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นพี่สาวจึงยอมลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับบ้าน แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่า ณ ขณะนั้น นอกจากบ้าน 11 หลัง แล้ว ยังมีที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกด้วย หลังจากที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกกันแล้ว ปรากฏว่า วันที่ 22 มิถุนายน 2520 จำเลยไปยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลัง ตามหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หลังจากนั้น วันที่ 19 กรกฎาคม 2522 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโอนมรดกทั้งบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2520 เมื่อพิจารณาหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตอนบนมีข้อความระบุโดยเจ้าหน้าที่ว่า มรดกรายนี้ได้ประกาศครบแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ผู้ขอ (จำเลย) เป็นทายาทของเจ้ามรดก ส่วนทายาทที่ควรได้รับมรดกไม่ขอรับมรดก ลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ และวันที่ 26 กันยายน 2520 ตอนล่างระบุว่า วันที่ 26 กันยายน 2520 ข้าฯ นายเชื้อ (โจทก์) ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกตามที่นางชอบ (จำเลย) ขอรับมรดกอาคารดังกล่าวนี้ ข้าฯ ทราบแล้วและยินยอมให้นางชอบ (จำเลย) ผู้ขอรับมรดกได้ตามความประสงค์ หากเกิดการเสียหายด้วยประการใด ๆ ข้าฯ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้นและลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ไม่ขอรับมรดกโดยมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน และข้าง ๆ มีข้อความระบุว่า วันที่ 26 กันยายน 2520 ข้าฯ (จำเลย) ได้ทราบการจดทะเบียนรับมรดกไปจากเจ้าหน้าที่แล้วและลงลายมือชื่อจำเลย เทียบกับสำเนาแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทด้านหลัง ระบุโดยเจ้าหน้าที่ว่า มรดกรายนี้ไม่มีพินัยกรรม ประกาศครบกำหนดแล้ว ไม่มีผู้คัดค้าน ผู้ขอ (จำเลย) เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดก วันนี้ผู้ขอมาขอโอน เห็นควรโอนให้ ทายาทยินยอมแล้ว ลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่และลงวันที่วันเดียวกันกับที่โจทก์ลงลายมือชื่อยินยอมให้จำเลยรับโอนมรดกบ้าน 7 หลัง คือ วันที่ 26 กันยายน 2520 และจำเลยลงลายมือชื่อทราบการโอนมรดก และได้รับโฉนดคืนไปแล้วในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 26 กันยายน 2520 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับโอนมรดกบ้าน 7 หลัง และที่ดินพิพาท โจทก์ได้เดินทางไปแสดงตัวและแสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกดังกล่าว สอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวรุ่งนภา หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในกรณีทายาทยินยอมให้รับมรดกจะต้องมีหลักฐานอย่างแน่ชัดและผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่จึงจะจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกให้ผู้ยื่นคำขอ ฉะนั้น การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยย่อมผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่แล้ว มิฉะนั้น เจ้าพนักงานที่ดินคงไม่ดำเนินการโอนมรดกให้แก่จำเลย ทั้งแบบ ท.ด.29 ซึ่งเป็นใบปะหน้าระบุเอกสารสำคัญที่มีอยู่ในสารบบที่ดินพิพาทว่า มีประกาศมรดก รายงานการปิดประกาศ สำเนามรณบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือความยินยอมของนายเชื้อ (โจทก์) รวมทั้งคำขอโอนมรดก บ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์ให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกโดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แม้ใบปะหน้าดังกล่าวจะมีการขีดฆ่าข้อความหนังสือความยินยอมของนายเชื้อ (โจทก์) แต่นางสาวรุ่งนภาก็ไม่ได้เบิกความอธิบายว่าเหตุใดจึงขีดฆ่าข้อความดังกล่าว ทั้งการขีดฆ่าก็ไม่ได้ขีดฆ่าเฉพาะข้อความดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีการขีดฆ่าข้อความประกาศมรดก รายงานการปิดประกาศ สำเนามรณบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านด้วย เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนางสาวรุ่งนภาซึ่งเบิกความเกี่ยวกับระเบียบกรมที่ดินว่า การจดทะเบียนที่ดินที่มีระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี จะต้องทำลายเอกสารรวมทั้งบันทึกถ้อยคำต่าง ๆ (ท.ด.16) ก็ต้องทำลายด้วย ที่ดินพิพาทรายนี้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนมรดกเมื่อปี 2520 นับถึงวันที่มีการขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าวเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า เหตุที่มีการขีดฆ่าข้อความดังกล่าวซึ่งรวมถึงการขีดฆ่าหนังสือความยินยอมของโจทก์ที่มาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่ประสงค์จะรับมรดก สืบเนื่องจากมีการทำลายเอกสารดังกล่าวตามระเบียบกรมที่ดินนั่นเอง พฤติการณ์ที่โจทก์แสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนมรดกที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ตอนท้าย และมาตรา 850 เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า หลังจากที่จำเลยรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2520 จำเลยได้นำที่ดินพิพาทให้ผู้อื่นเช่า ทั้งยังนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้แก่สหกรณ์การเกษตรสามพราน จำกัด เมื่อปี 2544 โดยระหว่างนั้นโจทก์ไม่เคยโต้แย้งหรือทักท้วงเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเลย โจทก์เพิ่งมาโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเมื่อปี 2553 นับเวลาล่วงมาแล้วกว่า 33 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยของผู้ที่อ้างว่าตนมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยได้รับโอนมรดกมาโดยชอบ ดังนี้ เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จสิ้นไปโดยโจทก์สละมรดกในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกในที่ดินพิพาท เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว รูปคดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยในประการอื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share