คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ 2 ทาง โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่เมื่อเลือกใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่สามารถใช้สิทธิ 2 ทาง พร้อมกันได้
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ได้มีคำสั่งภายในระยะเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 6 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเช่นเดียวกับที่ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2548 พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องโดยไม่ได้มีคำสั่ง เป็นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานยังไม่มีคำสั่ง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในบังคับต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง การที่พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องทำให้กระบวนพิจารณาในชั้นพนักงานตรวจแรงงานยกเลิกไปทั้งหมด โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีจึงไม่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับเรียกร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องศาลแรงงานภาค 6 เปิดทำการแล้วแต่ยังไม่มีผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 6 จึงโอนคดีไปยังศาลแรงงานกลาง หลังจากศาลแรงงานกลางเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษาปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 6 มีผู้พิพากษาสมทบพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลแรงงานภาค 6 จึงขอให้ศาลแรงงานกลางโอนคดีกลับมาพิจารณาพิพากษา เมื่อโอนคดีกลับมาแล้วผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางย่อมหมดอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แม้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) มาตรา 236 บัญญัติว่าผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นการที่ ช. และ ร. ผู้พิพากษาสมทบของศาลแรงงานภาค 6 ไม่เคยนั่งพิจารณาคดีนี้ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 16 ย่อมมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบอื่นเข้าปฏิบัติการแทนได้ตามมาตรา 20 ช. และ ร. ผู้พิพากษาสมทบองค์คณะในคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้ ส่วน น. ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งนั่งพิจารณาคดีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นก็ได้รับคำสั่งให้ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแห่นงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานกลางอีกตำแหน่งหนึ่งก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี น. จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 6 สั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็น 189,554 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 186,424 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกคนละ 20,000 บาท
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โจทก์ทั้งสองเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2544 โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก (แม่สอด) ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 6 ขอให้บังคับจำเลยจ่าย เงินเช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง หากเลือกใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการไม่อาจใช้สิทธิควบคู่ไปด้วยกันได้ แม้ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2548 พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องศาลแรงงานภาค 6 ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องในส่วนที่เรียกเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 6 เพื่อเรียกร้องค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชยหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า พนักงานตรวจแรงงานมิได้สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง กำหนด โจทก์ทั้งสองนำคดีขึ้นสู่ศาลภายหลังระยะเวลาที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสอบสวนและมีคำสั่งโดยชอบแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ 2 ทาง คือยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้วหากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิของลูกจ้างดังกล่าวต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งเท่านั้น หากเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่สามารถใช้สิทธิทั้งสองทางพร้อมกันได้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 และพนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องวันที่ 1 มิถุนายน 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานภาค 6 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 แม้คำฟ้องที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยจะมีคำขอเพื่อบังคับให้จำเลยต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสองเช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและยังอยู่ในระหว่างพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้อง ก็ตาม แต่ปรากฏว่าพนักงานตรวจแรงงานมิได้มีคำสั่งภายในระยะเวลาตามมาตรา 124 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และขณะโจทก์ยื่นฟ้องก็พ้นกำหนดตามมาตราดังกล่าวแล้ว อีกทั้งต่อมาพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งยุติเรื่องโดยมิได้มีคำสั่ง จึงเป็นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานยังไม่มีคำสั่ง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง และจากการที่พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่อง จึงทำให้กระบวนพิจารณาในชั้นพนักงานตรวจแรงงานยกเลิกไปทั้งหมด การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีจึงไม่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับการใช้สิทธิเรียกร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชยต่อศาลแรงงานภาค 6 ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลแรงงานภาค 6 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าชดเชย จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 ว่าผู้พิพากษาองค์คณะในคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 มีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าผู้พิพากษาองค์คณะที่ร่วมวินิจฉัยคดีนี้มิได้นั่งร่วมพิจารณามาแต่ต้น ไม่สามารถทำคำพิพากษาหรือวินิจฉัยได้ คำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 6 จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) มาตรา 236 เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 236 บัญญัติว่า การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นคือเว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ศาลแรงงานภาค 6 เปิดทำการแล้ว แต่ยังไม่มีผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 6 จึงโอนคดีไปยังศาลแรงงานกลาง หลังจากศาลแรงงานกลางเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษา ปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 6 มีผู้พิพากษาสมทบพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลแรงงานภาค 6 จึงขอให้ศาลแรงงานกลางโอนคดีกลับมาให้ศาลแรงงานภาค 6 พิจารณาพิพากษา เมื่อมีการโอนคดีกลับมาแล้วผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานกลางย่อมหมดอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ดังนั้นแม้นายชัยยศ เจียงทองเลื่อน และนางสาวรุ่งฤดี ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างของศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งทำ คำพิพากษาจะไม่เคยนั่งพิจารณาคดีนี้ แต่ก็ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ในฐานะผู้มีอำนาจตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ย่อมมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบอื่นเข้าปฏิบัติการแทนได้ตามมาตรา 20 นายชัยยศและนางสาวรุ่งฤดีผู้พิพากษาสมทบองค์คณะในคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้ ส่วนนายนพเรศ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งนั่งพิจารณาคดีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นก็ได้รับคำสั่งให้ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแห่นงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานกลางอีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2548 ก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี นายนพเรศ ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 6 ในส่วนค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชย ให้ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าชดเชย แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้ไห้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6

Share