คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 (3) (6) (8) (9) และ (20) แม้จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนเช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบท่าเทียบเรือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งควบคุมความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนผู้มาใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย การปิดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการปิดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดได้

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10161/2541 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนที่หนึ่งว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 3 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 สำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนที่ห้าว่า โจทก์ที่ 9 และที่ 10 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนที่หกว่า โจทก์ที่ 11 และที่ 12 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10161/2541 ว่า โจทก์ที่ 13 และที่ 14 และเรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนที่เจ็ดว่า โจทก์ที่ 15 และที่ 16 ตามลำดับ ต่อมาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10161/2541 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 13 และที่ 14 ถอนฟ้องจำเลยทั้งสี่ คดีถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้
โจทก์ที่ 9 ที่ 10 ที่ 15 และที่ 16 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยโจทก์ที่ 9 และที่ 10 ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด ส่วนโจทก์ที่ 15 และที่ 16 ได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลบางส่วนแต่ไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่น
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 15 และที่ 16 ฟ้องและโจทก์ที่ 11 และที่ 12 แก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ 1,027,549 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพและทรัพย์สินของนางสาวสิริกุลผู้ตายที่สูญหาย 3,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ 2,744,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 6 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพและเงินโบนัสของนายรังสรรค์ผู้ตาย 2,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 7 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ 5,192,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 8 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 9 และที่ 10 ใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ 2,837,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 11 และที่ 12 ใช้เงินค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ค่าเสียหายที่นางจินตนาถูกให้ออกจากราชการ ค่าทรัพย์สินที่สูญหายและค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน 11,235,891.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 15 และที่ 16
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 8 ถึงแก่ความตาย นางจันทร์เพ็ญ เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 15 และที่ 16 ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 1,165,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 มีนาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 627,549 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 มีนาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จำนวน 1,920,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 เมษายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 เมษายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน1,214,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 เมษายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน 2,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 เมษายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 860,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 พฤษภาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 11 จำนวน 698,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 มิถุนายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 12 จำนวน 648,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 มิถุนายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 15 และที่ 16 จำนวน 3,903,397 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 พฤษภาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 15 และที่ 16 โดยกำหนด ค่าทนายความสำนวนแรก 60,000 บาท สำนวนที่สอง 30,000 บาท สำนวนที่สาม 60,000 บาท สำนวนที่สี่ 60,000 บาท สำนวนที่ห้า 30,000 บาท สำนวนที่หก 40,000 บาท และสำนวนสุดท้าย 60,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละสำนวนชนะคดี และเนื่องจากโจทก์ที่ 10 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โจทก์ที่ 15 และที่ 16 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาบางส่วนเฉพาะค่าขึ้นศาลสามในสี่ส่วน จึงให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าธรรมเนียมแก่ศาลในนามของโจทก์ที่ 10 ที่ 15 และที่ 16 คำขออื่นของโจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 15 และที่ 16 ให้ยก ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 12 ที่ 15 และที่ 16 สำหรับจำเลยที่ 4 และฟ้องของโจทก์ที่ 9 สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 15 และที่ 16 จำนวน 2,850,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา (วันที่ 29 ตุลาคม 2547) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ และยกฟ้องโจทก์ที่ 12 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 12 และจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำนวนดังกล่าวบรรยายฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดให้มีการขนส่ง บำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ รวมทั้งสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ควบคุมดูแลการใช้ท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ ในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดให้อยู่ในสภาพแข็งแรงปลอดภัย ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ ให้มั่นคงแข็งแรงปลอดภัย เมื่อทราบว่าโป๊ะเทียบเรือพรานนกที่เกิดเหตุไม่อยู่ในสภาพที่จะให้บริการประชาชนได้ มีสภาพเก่าชำรุด การก่อสร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องสั่งให้หยุดการใช้งานและสั่งให้มีการซ่อมแซมให้อยู่สภาพมั่นคงแข็งแรง แต่จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้โป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุเปิดบริการแก่ประชาชนเพื่อรอขึ้นลงเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยา โดยไม่ได้มีคำสั่งให้ซ่อมแซมแก้ไขแต่อย่างใด จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายเพื่อป้องกันคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนโดยประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้โป๊ะเทียบเรือจมลงแม่น้ำเจ้าพระยาและผู้ตายซึ่งอยู่บนโป๊ะเทียบเรือจมน้ำถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งห้าสำนวน ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่ได้ความโดยแจ้งชัดถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ที่ปล่อยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้โป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุซึ่งมีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงเปิดบริการประชาชนเป็นผลให้เกิดเหตุคดีนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ได้ให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำนวนนี้จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อที่ว่าตามคำฟ้องมิได้บรรยายถึงสภาพโป๊ะเทียบเรือว่าไม่ถูกต้องและชำรุดอย่างไร ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์ดังกล่าวสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาจำต้องบรรยายมาในคำฟ้องไม่ ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 15 และที่ 16 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 (3) (6) (8) (9) และ (20) จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดให้มีท่าเทียบเรือพรานนกที่เกิดเหตุ แม้จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนเช่า และเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบท่าเทียบเรือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ท่าเทียบเรือรวมถึงโป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสถาน จำเลยที่ 3 ย่อมมีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งควบคุมความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนผู้มาใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ครอบครองท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ก็ยังมีหน้าที่ควบคุมจำเลยที่ 1 ให้จัดให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในการใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมศาลาท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุมีช่องเก็บค่าโดยสารและตรวจนับผู้โดยสารที่เรียกว่าช่องแก๊ก ซึ่งมี 2 ช่อง ผู้โดยสารที่จะลงไปบนโป๊ะเทียบเรือจะต้องผ่านช่องแก๊กนี้เท่านั้น อันเป็นมาตรการที่จำเป็นและสำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือจำนวนมากเกินกว่าจะรับน้ำหนักได้ ส่วนผู้โดยสารที่จะขึ้นจากเรือมาที่ท่าเทียบเรือจะผ่านทางประตูตะแกรงเหล็กซึ่งอยู่ระหว่างช่องแก๊กทั้งสองช่อง โดยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ควบคุมการเลื่อนเปิดปิดประตู ก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดลง สำนักงานเขตบางกอกน้อยหน่วยงานของจำเลยที่ 3 มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ในทางขึ้นลงท่าเทียบเรือ ได้แก่ ประตู ช่องเก็บเงิน เพื่อดำเนินการเป็นท่าเทียบเรือสาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 ยังมิได้รื้อถอน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2538 สำนักงานเขตบางกอกน้อยจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งกีดขวางต่าง ๆ เป็นการด่วน จำเลยที่ 1 ได้รื้อถอนตามที่ได้รับแจ้ง หลังจากรื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กออก ทำให้ประชาชนสามารถผ่านท่าเทียบเรือขึ้นลงโป๊ะเทียบเรือได้โดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้น จำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วว่าโป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุรับน้ำหนักผู้โดยสารได้เพียง 60 คน และมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมเล็งเห็นว่า หลังจากรื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กออกไปจะทำให้ประชาชนสามารถผ่านท่าเทียบเรือลงโป๊ะเทียบเรือได้โดยสะดวก หากประชาชนลงโป๊ะเทียบเรือมากเกินน้ำหนักที่จะรับได้ย่อมทำให้เกิดอันตรายได้ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ท่าเทียบเรือไม่ให้ผู้โดยสารไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือเกินกว่า 60 คน ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดระเบียบ ควบคุม นับจำนวน ห้ามผู้โดยสารที่ฝ่าฝืนคำแนะนำต่าง ๆ และจัดหาอุปกรณ์เพื่อจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่ให้ลงโป๊ะเทียบเรือเกินจำนวน รวมทั้งควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 3 หาได้ดำเนินการไม่ จนกระทั่งเช้าวันเกิดเหตุวันที่ 14 มิถุนายน 2538 มีผู้โดยสารเดินผ่านบริเวณช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กที่ถูกรื้อถอนออกไปลงโป๊ะเทียบเรือเกินจำนวนที่โป๊ะเทียบเรือจะรับน้ำหนักได้ ประกอบมีเรือด่วนแล่นมาเทียบสองลำในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้โดยสารในเรือแต่ละลำรีบขึ้นจากเรือไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือ และผู้โดยสารที่อยู่บนโป๊ะเทียบเรือรีบจะลงเรือ ทำให้มีผู้โดยสารไปออกันริมโป๊ะเทียบเรือจำนวนมาก น้ำหนักไปถ่วงอยู่ริมโป๊ะเทียบเรือ เป็นเหตุให้โป๊ะเทียบเรือเอียงและจมลง ผู้โดยสารตกลงไปในแม่น้ำและจมน้ำถึงแก่ความตายกับได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งผู้ตายทั้งสิบสองคนและผู้บาดเจ็บคดีนี้ การที่มีผู้โดยสารอยู่บนโป๊ะเทียบเรือเป็นจำนวนมากเกินกว่าโป๊ะเทียบเรือจะรับน้ำหนักได้เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากจำเลยที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กกันผู้โดยสารออกไป โดยจำเลยที่ 3 ไม่มีมาตรการอื่นเพื่อทดแทน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการป้องกันสาธารณภัยและควบคุมความปลอดภัยสาธารณสถานตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 15 และที่ 16 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โป๊ะเทียบเรืออยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักผู้โดยสารได้ประมาณ 60 คน จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยติดป้ายประกาศไว้ที่โป๊ะเทียบเรือแล้วว่าโป๊ะรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 60 คน การที่ผู้โดยสารลงไปบนโป๊ะเทียบเรือเป็นจำนวนมาก ถือว่าผู้โดยสารยอมเสี่ยงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นเอง การที่โป๊ะเทียบเรือจมลง จึงเป็นความประมาทของผู้ตายและผู้บาดเจ็บนั้น เห็นว่า ท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าวันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันราชการและเป็นเวลาที่นักเรียนและประชาชนต่างเร่งรีบที่จะไปโรงเรียนและไปทำงานให้ทัน เห็นได้ว่าการปิดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการปิดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดได้ สำหรับผู้โดยสารที่จมน้ำถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บนั้น เห็นว่า ผู้ตายแต่ละคนลงไปบนโป๊ะเทียบเรือที่เกิดเหตุเพราะมีความจำเป็นต้องเดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ตายแต่ละคนมาถึงท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุเวลาใด เมื่อมาถึงเห็นผู้โดยสารอยู่บนโป๊ะเทียบเรือมากน้อยเพียงใด และได้ลงไปบนโป๊ะเทียบเรือเป็นคนที่เท่าไร ส่วนนางจินตนา ผู้บาดเจ็บเป็นผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยามาจากจังหวัดนนทบุรีและมีความจำเป็นที่จะต้องลงจากเรือขึ้นไปบนโป๊ะเทียบเรือเพื่อไปทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บเป็นฝ่ายประมาท และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ในคดีอาญาศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายทุกสำนวนและผู้บาดเจ็บมีส่วนประมาท ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงต้องผูกพันโจทก์ทุกสำนวนในคดีนี้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในคดีนี้ว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนประมาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและศาลได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญาด้วย แต่ข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ว่า ผู้ตายและผู้บาดเจ็บมีส่วนประมาทหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดีอาญา และตามคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยเพียงว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะมีคนลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือมากกว่า 100 คน เกินกว่าโป๊ะเทียบเรือจะรับน้ำหนักได้ แต่ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นใครบ้างที่มีส่วนก่อให้เกิดเหตุขึ้นเท่านั้น หาได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บรายใดเป็นฝ่ายประมาท และจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีอาญา จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่เป็นกรณีที่ต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานในสำนวนคดีแพ่งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายประมาทโดยผู้ตายและผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนประมาทด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 15 และที่ 16 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น และคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ดังกล่าวไม่ชอบและมีจำนวนไม่เหมาะสมอย่างไร ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share