คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้คำฟ้องจาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหารับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 มิได้บังคับให้จำเลยต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งเสียก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาใช้บังคับนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ข้อนี้พร้อมทั้งฎีกาของจำเลยเสียเลยว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรและอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ขัดแย้งกับฟ้องโจทก์ในข้อหารับของโจรรถยนต์ เพราะเป็นทรัพย์คนละอย่างกัน เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจแก้ฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปรากฏตามคำร้องขอแก้ฟ้องโจทก์ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2555 อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้ไขคำฟ้องแผ่นที่ 1 หน้าที่ 1 ข้อที่ 1. บรรทัดที่สาม จาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share