แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความแห่งสัญญาซื้อขายเป็นข้อตกลงกำหนดล่วงหน้าว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายยางธรรมชาติ จำนวนโดยประมาณ มิใช่เป็นการตกลงซื้อขายยางโดยมีจำนวนและราคาที่แน่นอนแล้ว และจำเลยต้องส่งมอบยางให้แก่โจทก์เมื่อใด อันจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายพึงต้องปฏิบัติต่างตอบแทนกัน จำเลยยังจะต้องรอให้โจทก์มีคำสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงจะส่งยางให้แก่โจทก์ แสดงว่าข้อตกลงจะมีผลเป็นสัญญาซื้อขายก็ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จไปยังจำเลยแล้ว จึงมีลักษณะเป็นเพียงคำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายว่า จำเลยจะขายยางให้แก่โจทก์ ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยฝ่ายเดียวตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคหนึ่ง มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะขายหรือจะซื้อ
คำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์มิได้มีกำหนดเวลา เมื่อจำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ตอบมาเป็นที่แน่นอนภายในกำหนดเวลาพอสมควรว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง เสียก่อน จึงเป็นการบอกเลิกคำมั่นโดยมิชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,126,866 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 6,553,440 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงิน 6,553,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ทำสัญญาซื้อยางธรรมชาติ ชนิดเอสทีอาร์ 20 ประมาณ 1,700 ถึง 1,800 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 23.25 บาท จากจำเลย วันที่ 6 มีนาคม 2545 โจทก์ซื้อยางงวดที่ 1 จำนวน 80,640 กิโลกรัม เป็นเงิน 1,874,880 บาท โจทก์ชำระราคายางให้แก่จำเลยและจำเลยส่งมอบยางให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว วันที่ 7 มีนาคม 2545 โจทก์ซื้อยางงวดที่ 2 จำนวน 120,960 กิโลกรัม เป็นเงิน 2,812,320 บาท โจทก์ชำระราคายางให้แก่จำเลยและจำเลยส่งมอบยางให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว วันที่ 20 มีนาคม 2545 โจทก์ซื้อยางงวดที่ 3 จำนวน 100,800 กิโลกรัม เป็นเงิน 4,687,200 บาท โดยโอนเงิน 4,652,046 บาท เข้าบัญชีของจำเลย หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 35,154 บาท แต่วันที่ 21 มีนาคม 2545 จำเลยโอนเงินคืนให้แก่โจทก์ วันที่ 27 มีนาคม 2545 โจทก์ซื้อยางงวดที่ 4 จำนวน 302,400 กิโลกรัม เป็นเงิน 7,030,800 บาท โดยโอนเงิน 6,978,069 บาท เข้าบัญชีของจำเลย หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 52,731 บาท แต่วันที่ 28 มีนาคม 2545 จำเลยโอนเงินคืนให้แก่โจทก์ อ้างว่าสัญญาเลิกกันแล้ว ต่อมาจำเลยเสนอขายยางให้แก่โจทก์ในราคาใหม่ โดยวันที่ 4 เมษายน 2545 เสนอขายในราคากิโลกรัมละ 27.50 บาท และวันที่ 17 เมษายน 2545 เสนอขายในราคากิโลกรัมละ 26 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ซื้อยางและชำระราคาภายใน 10 วัน นับแต่วันทำสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย ดังนี้ นิติสัมพันธ์อันจะก่อให้เกิดเป็นสัญญาซื้อขายจึงเป็นเรื่องที่ผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขาย แต่ตามสัญญาพร้อมคำแปลที่มีข้อความว่า
สินค้า : ยางธรรมชาติ เอสทีอาร์ 20
ปริมาณ : 80 ตู้ ประมาณ 1,700 ถึง 1,800 ตัน
ราคา : กิโลกรัมละ 23.25 บาท
การส่งมอบ : ผู้ซื้อจัดเตรียมตู้จนถึงโรงงานผู้ขาย
การชำระเงิน : โอนเงินก่อนส่งมอบ
ข้อความแห่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่เพียงแต่กำหนดไว้ล่วงหน้าว่า โจทก์และจำเลยตกลงที่จะซื้อขายยางธรรมชาติเอสทีอาร์ 20 กัน จำนวนโดยประมาณ ในราคากิโลกรัมละ 23.25 บาท เท่านั้น มิใช่เป็นการตกลงซื้อขายยางกันโดยมีจำนวนและราคาที่แน่นอนแล้วว่ามีเท่าใดและจำเลยจะต้องส่งมอบยางให้แก่โจทก์เมื่อใด ในอันที่จะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ทั้งสองฝ่ายพึงต้องปฏิบัติต่างตอบแทนซึ่งกันและกันอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย ยิ่งกว่านั้น ในทางปฏิบัติจำเลยยังจะต้องรอให้โจทก์มีคำสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงจะส่งยางไปให้แก่โจทก์และตามจำนวนเท่าที่สั่งซื้อมิได้มากไปกว่านั้น ดังเช่นที่ภายหลังการทำสัญญา โจทก์ได้สั่งซื้อยางจากจำเลยในวันที่ 6 มีนาคม 2545 และวันที่ 7 มีนาคม 2545 อันแสดงว่าข้อตกลงจะมีผลเป็นการซื้อขายก็ต่อเมื่อโจทก์บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จไปยังจำเลยแล้ว กับเชื่อได้ว่าหากราคายางตามท้องตลาดลดลงต่ำกว่ากิโลกรัมละ 23.25 บาท โจทก์คงไม่สั่งซื้อยางจากจำเลยเป็นแน่ ตามสัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเพียงคำมั่นที่จำเลยได้ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จะมีการซื้อหรือขายว่า จำเลยจะขายยางให้แก่โจทก์ในราคากิโลกรัมละ 23.25 บาท ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยฝ่ายเดียว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 454 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือสัญญาจะขายหรือจะซื้อ จำเลยจึงหาได้ผิดสัญญาซื้อขายหรือผิดสัญญาจะขายหรือจะซื้อต่อโจทก์ ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อย่างไรก็ตาม เมื่อคำมั่นมีหลักฐานเป็นหนังสือดังปรากฏตามสัญญาดังกล่าวซึ่งฟ้องร้องบังคับคดีได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) ที่ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่สืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร เมื่อคำมั่นตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวของโจทก์ในการสั่งซื้อ ดังนั้น ที่พยานจำเลยเบิกความว่า โจทก์จะต้องซื้อยางและชำระราคาให้เสร็จภายในวันที่ 10 มีนาคม 2545 ย่อมถือว่าเป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้รับฟัง ทั้งมิใช่เป็นการนำสืบเพื่อตีความสัญญา เพราะคำมั่นที่ไม่มีกำหนดเวลามีผลผูกพันผู้ให้คำมั่นโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงต้องถือว่าคำมั่นที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์มิได้มีกำหนดเวลา เช่นนี้แม้ได้ความว่าในวันที่ 20 มีนาคม 2545 จำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ให้ตอบมาเป็นที่แน่นอนภายในกำหนดเวลาพอสมควรว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 454 วรรคสอง เสียก่อน จึงเป็นการบอกเลิกคำมั่นโดยไม่ชอบ
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ