แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ขอให้ ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. สามีตน ศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรม ป. มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2518 โดยโจทก์ที่ 1 ร้องขอต่อศาล แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะตั้งผู้จัดการมรดกโดยเร็วเพื่อนำทรัพย์มรดกของ ป. มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ป. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ในโฉนดเลขที่ 4134 ให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนยันว่าก่อนที่จะตกลงซื้อขายที่ดิน ป. พาโจทก์ที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้านปรึกษาระหว่างพี่น้องในเรื่องการขายที่ดิน น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ทราบถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่าง ป. กับจำเลยที่ 2 ก่อนแล้ว การขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ทำการซื้อขายโดยเปิดเผย สุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยมีการซื้อขายในราคา 500,000 บาท เท่ากับราคาที่ได้ระบุเอาไว้ในคำสั่งของศาลแพ่งขณะตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกและมีพยานรู้เห็นในการทำสัญญาสองคน ทั้งในท้ายสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนตามเอกสารหมาย ล.2 ป. ยังให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ด้วยว่า ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. มีความจำเป็นขายที่ดินส่วนนี้เพื่อนำเงินไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ช. เป็นความจริง เห็นได้ว่าการซื้อขายเป็นไปโดยสุจริตปราศจากการฉ้อฉลหลอกลวง และ ป. มิได้มีส่วนได้เสียกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์แก่กองมรดกแต่ประการใด
ป. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และ พ. ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แต่อย่างใด การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของ ช. ระหว่าง ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร) ระหว่างนายปลิว ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชา กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินดังกล่าวโดยให้โจทก์ทั้งห้ามีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 5 ส่วน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากการแบ่งที่ดินไม่อาจตกลงกันได้ให้ประมูลขายหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วน และหากไม่สามารถแบ่งกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งห้าได้ให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลิว ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้า 239,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่รับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เนื่องจากไม่ปรากฏข้อโต้แย้งสิทธิ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความคนละ 100,000 บาท
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า การทำนิติกรรมโอนที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายประชาระหว่างนายปลิวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชากับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า หลังจากนายประชาถึงแก่ความตายแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ขอให้นายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกของนายประชา หลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งนายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกแล้วนายปลิวไม่เคยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของนายประชา โจทก์ที่ 1 ทราบว่าเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 นายปลิวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชาโอนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4134 บางส่วนของนายประชาให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 500,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นยินยอม ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลและไม่เคยได้รับเงินจากนายปลิว ต่อมามีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวโดยนายปลิว จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายปรีชาได้ไปคนละเท่า ๆ กัน คงเหลือที่ดินอยู่อีก 7 ไร่เศษ มีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายปรีชาโดยส่วนของนายปลิว จำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดก ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบโต้แย้งว่า หลังจากศาลได้มีคำสั่งตั้งนายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกของนายประชาแล้ว นายปลิวได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 เฉพาะส่วนของนายประชาให้จำเลยที่ 2 ในราคา 500,000 บาท โดยนายปลิวบอกว่าจะนำเงินที่ขายได้ไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของนายประชา มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานการจดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วน เป็นการซื้อขายโดยสุจริตและชำระราคากันจริง โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขอร้องให้ขายที่ดินมรดกของนายประชาอ้างว่าต้องนำเงินไปค้าขายและใช้จ่ายในครอบครัว ก่อนซื้อขายมีการปรึกษากับโจทก์ที่ 1 ถึงเรื่องของการขายที่ดินส่วนของนายประชาด้วย เหตุที่จำเลยที่ 2 รับซื้อไว้เนื่องจากเห็นว่าเป็นมรดกของบิดาหากให้คนอื่นซื้อไปแล้วจะลำบาก ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโจทก์ที่ 1 ไปที่สำนักงานที่ดินด้วย เห็นว่านายประชาผู้ตายซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 มีพี่น้องหลายคนการที่โจทก์ที่ 1 ขอให้นายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกของนายประชาสามีตนนั้นแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ไว้เนื้อเชื่อใจนายปลิวให้จัดการมรดกของนายประชาและต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งนายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายประชาตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่ง หน้าที่ของนายปลิวผู้จัดการมรดกเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ มาตรา 1736 วรรคสอง กล่าวคือมีหน้าที่หลักในการรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท นายประชาเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งนายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2518 โดยโจทก์ที่ 1 ร้องขอต่อศาลให้นายปลิวเป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะตั้งผู้จัดการมรดกของนายประชาโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อนำทรัพย์มรดกของนายประชามาแบ่งปันกันระหว่างทายาท นายปลิวผู้จัดการมรดกของนายประชาขายที่ดินเฉพาะส่วนของนายประชาในโฉนดเลขที่ 4134 ให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกไม่กี่เดือน โจทก์ที่ 1 จะอ้างว่าไม่ทราบเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายปลิวกับจำเลยที่ 2 ดูจะขาดเหตุผล จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เบิกความยืนยันว่าก่อนที่จะตกลงซื้อขายที่ดินนายปลิวพาโจทก์ที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้านปรึกษาระหว่างพี่น้องในเรื่องการขายที่ดิน น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ทราบถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายปลิวกับจำเลยที่ 2 ก่อนแล้ว การขายที่ดินเฉพาะส่วนของนายประชาในที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ทำการซื้อขายโดยเปิดเผย สุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยมีการซื้อขายในราคา 500,000 บาท เท่ากับราคาที่ได้ระบุเอาไว้ในคำสั่งของศาลแพ่งขณะตั้งนายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกและมีพยานรู้เห็นในการทำสัญญาสองคน ทั้งในท้ายสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วน นายปลิวยังให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ด้วยว่านายปลิวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชามีความจำเป็นขายที่ดินส่วนนี้เพื่อนำเงินไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของนายประชาเป็นความจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการซื้อขายเป็นไปโดยสุจริตปราศจากการฉ้อฉลหลอกลวง และนายปลิวมิได้มีส่วนได้เสียกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์แก่กองมรดกแต่ประการใด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การที่นายปลิวขายที่ดินเฉพาะส่วนของนายประชาซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 และนายพรพจน์ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายประชามีนายปลิวเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาทจึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายปลิวผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 แต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายประชาระหว่างนายปลิวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประชากับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ