แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นขอรังวัดตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์แปลงโคกทม ตามหลักฐาน น.ส.ล. เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองนครราชสีมา โดยปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดที่ดินบางส่วนของผู้ฟ้องคดีทั้งหกซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์เข้าไปในเขต น.ส.ล. ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปิดป้ายประกาศทางราชการห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเข้าไปในที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. ในส่วนที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่อยู่นอกหลักฐาน ส.ป.ก. และที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ดังนี้ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งหกในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน การที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งหกตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามูลความแห่งคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีหมายเลขแดง ของศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๘/๒๕๕๗
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖ นายเป๊ะ ใจกล้า ที่ ๑ นายสมพงษ์ ทุมจารย์ ที่ ๒ นางหนู มาศจันทร์ ที่ ๓ นายเสาร์ อนุพันธ์ ที่ ๔ นางเฟื่อง บุตรปัญญา ที่ ๕ นายโพธิ์ หูกทอง ที่ ๖ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๘/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นขอรังวัดตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์แปลงโคกทมสาธารณประโยชน์ ตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร ๐๐๘๗๐ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา คดีหมายเลขแดงที่ ๗๔/๒๕๔๘ ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์เข้าเป็นเขต น.ส.ล. ดังกล่าว โดยที่ดินดังกล่าวได้รับแจกเอกสาร ส.ป.ก. มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ และยังไม่ได้ถูกเพิกถอน โดยที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แม้จะได้รังวัดกันออกจากเขต น.ส.ล. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา แต่มีที่ดินบางส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ที่มีหลักฐาน ส.ป.ก. ได้ถูกรังวัดเข้าไปในเขต น.ส.ล. เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไปตรวจสอบแนวเขตที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่เข้าใจเกี่ยวกับการรังวัด จึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปิดป้ายประกาศทางราชการห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเข้าไปในที่ดินพิพาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในส่วนที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่อยู่นอกหลักฐาน ส.ป.ก. และที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ครอบครองที่ดินมีหลักฐาน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่สาธารณประโยชน์แปลงโคกทมสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีที่ ๕ และที่ ๖ ได้ครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีเอกสารสิทธิ ย่อมเป็นการครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมานาน ก็ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา คดีหมายเลขแดงที่ ๗๔/๒๕๔๘ อันเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการแสดงเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ส่วนการดำเนินการรังวัดตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินและพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ การฟ้องว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ตลอดจนฟ้องว่าการรังวัดตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกและรังวัดทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกครอบครองและทำประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้การที่ศาลจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ศาลจะต้องวินิจฉัยให้ได้ความเป็นที่ยุติเสียก่อนว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกอ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในประเด็นดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด นอกจากนี้เมื่อมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกันกับคดีหมายเลขแดงที่ ๗๔/๒๕๔๘ ของศาลปกครองนครราชสีมา และมีผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีบางรายเป็นคู่กรณีเดียวกัน อีกทั้งที่ดินพิพาททั้งสองคดีอยู่ในบริเวณเดียวกัน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่าแม้เป็นการรังวัดเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขแดงที่ ๗๔/๒๕๔๘ แต่มีที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ บางส่วนที่อยู่นอกเขต ส.ป.ก. ที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่าครอบครองทำประโยชน์อยู่ถูกรังวัดรวมเข้าไปในเขต น.ส.ล.ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ บร ๐๐๘๗๐ ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ในส่วนทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่อยู่นอกหลักฐาน ส.ป.ก. ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ แม้จะเคยฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๗๔/๒๕๔๘ ก็ตาม แต่คดีดังกล่าวมีประเด็นต้องวินิจฉัยในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ เพียงว่า กองวิชาการเกษตรนำรั้วลวดหนามมาล้อมในบริเวณที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น มิได้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากัน ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ จะเป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. แต่ก็กล่าวอ้างว่ามีที่ดินส่วนอื่นรวมอยู่ด้วย ทั้งการที่คณะกรรมการปฏิรูปจะพิจารณาให้ทำประโยชน์หรือไม่ก็จะต้องดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรผู้ถือครองทำประโยชน์อยู่เดิม หากเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูป ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๘ ดังนี้ แม้จะเป็นเพียงผู้มีสิทธิขออนุญาตแต่ย่อมถือว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่ใช้สิทธิทางศาลที่ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นที่ยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นขอรังวัดตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์แปลงโคกทมสาธารณประโยชน์ ตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองนครราชสีมา ปรากฏว่า ที่ดินบางส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ที่มีหลักฐาน ส.ป.ก. ได้ถูกรังวัดเข้าไปในเขต น.ส.ล. เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไปตรวจสอบแนวเขตที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่เข้าใจเกี่ยวกับการรังวัด จึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปิดป้ายประกาศทางราชการห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเข้าไปในที่ดินพิพาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในส่วนที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่อยู่นอกหลักฐาน ส.ป.ก. และที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ครอบครองที่ดินมีหลักฐาน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ทับที่สาธารณประโยชน์แปลงโคกทมสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีที่ ๕ และที่ ๖ ได้ครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีเอกสารสิทธิ ย่อมเป็นการครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองนครราชสีมา อันเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้พิพากษายกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งหกในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ การที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งหกตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มูลความแห่งคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีหมายเลขแดงที่ ๗๔/๒๕๔๘ ของศาลปกครองนครราชสีมาและได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเป๊ะ ใจกล้า ที่ ๑ นายสมพงษ์ ทุมจารย์ ที่ ๒ นางหนู มาศจันทร์ ที่ ๓ นายเสาร์ อนุพันธ์ ที่ ๔ นางเฟื่อง บุตรปัญญา ที่ ๕ นายโพธิ์ หูกทอง ที่ ๖ ผู้ฟ้องคดี สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ