คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5081/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ด้วย จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์353,553.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน340,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 315,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 340,000 บาท นับแต่วันที่ 22กันยายน 2537 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2538 และจากต้นเงิน 315,000 บาทนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาทสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน315,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 340,000 บาทนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2538 และจากต้นเงิน315,000 บาท นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2รู้จักกันโดยทำงานอยู่สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ 1เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 2 มีอาชีพเปิดร้านให้เช่าม้วนวีดีทัศน์ ต่อมาจำเลยที่ 1มีปัญหาด้านการเงิน จำเลยที่ 2 จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 รู้จักกับโจทก์และกู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เอกสารหมาย จ.8และ จ.11 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับเอกสารหมายจ.8 และ จ.11 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 และ 940 ประกอบมาตรา 989 ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว

อนึ่ง คดีนี้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ด้วย จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”

พิพากษายืน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 6,000 บาทแทนโจทก์

Share