คำวินิจฉัยที่ 55/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยึดไม้พะยูงท่อนและรถยนต์เป็นการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๑๖) มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๕ ประกอบพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๔ ทวิ ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดและยึดของกลางไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด จึงเป็นการดำเนินการตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง เมื่อมูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจยึดทรัพย์ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ การขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่คืนรถยนต์กระบะของกลาง และให้มีคำสั่งคืนรถยนต์กระบะของกลาง โดยต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๕/๒๕๕๗

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓)

ศาลปกครองอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุดรธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นางเหรียญทอง นาคเสน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) ที่ ๒ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๗/๒๕๕๕ โดยคดีนี้ได้โอนมาเป็นคดีของศาลปกครองอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ ๕๒/๒๕๕๕ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองอุดรธานี และได้มีคำสั่งเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บท ๒๗๔๘ หนองคาย และรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บน ๒๓๑๑ กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ร่วมกันจับกุมนายสันยา ชัยพัฒน์ พร้อมยึดไม้พะยูงท่อนและรถยนต์กระบะทั้งสองคันดังกล่าวเป็นของกลาง กล่าวหาว่า มีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีดังกล่าวพนักงานอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ ไม่ขอริบรถยนต์ของกลางและมีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ และพนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาของกลาง เพื่อให้คืนของกลาง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าไม่อาจคืนของกลางได้เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด อันเป็นการกระทำที่มิชอบ เนื่องจากพนักงานอัยการมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ริบของกลางย่อมถือว่าคดีเกี่ยวกับของกลางถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะยึดรถยนต์กระบะของกลางไว้เป็นหลักฐานต่อไป การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ สังกัด ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่คืนรถยนต์กระบะของกลาง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าเสื่อมราคารถค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะส่งมอบรถคืน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ สงวนคุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การจัดให้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช การที่เจ้าหน้าที่ชุดป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่าประจำอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้สนธิกำลังร่วมกันจับกุมผู้กระทำความผิดและยึดรถยนต์กระบะตามคำฟ้องเพื่อเป็นพยานหลักฐานประกอบการดำเนินคดี อันเป็นการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา และตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๖๔ ทวิ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลอื่นใดที่บุคลได้ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และคดีนี้พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นคดียังไม่ถึงที่สุดตามที่ผู้ฟ้องคดี อ้างแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่สามารถคืนของกลางให้แก่ผู้ฟ้องคดี การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงชอบตามกฎหมายแล้ว และไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์ตามที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นการโต้แย้งกันในวิธีการขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกเฉยไม่คืนรถยนต์ของกลางที่ยึดและเก็บรักษาไว้ตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้คืนอันเป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่คืนรถยนต์ของกลางทั้งสองคัน พร้อมทั้งชดใช้ ค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ทั้งสองคัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานทางปกครองเกิดจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เกี่ยวกับการคืนของกลางที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔ ทวิ และมาตรา ๖๔ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแม้รถยนต์กระบะบรรทุกทั้งสองคันดังกล่าวจะเป็นของกลางที่ถูกยึดไว้ในคดีอาญา ก็ไม่มีผลให้คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่คืนของกลางตามที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งให้คืน จึงไม่ใช่ขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้โดยตรง แต่เป็นการกระทำตามขั้นตอนวิธีการและอำนาจหน้าที่ตามที่มาตรา ๖๔ ทวิ และมาตรา ๖๔ ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ และเมื่อเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
ศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เข้าจับกุมผู้กระทำความผิดกับยึดรถยนต์กระบะเป็นของกลาง ถือเป็นการใช้อำนาจในฐานะฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๖) มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๕ ให้อำนาจไว้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๔ ทวิ ก็ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ยึดของกลางไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจยึดรถยนต์กระบะของกลางไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีและใช้ดุลพินิจไม่คืนของกลางดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แม้ว่าพนักงานอัยการจะแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนรถยนต์กระบะของกลางแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ไม่คืนรถยนต์กระบะของกลางจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ก็ยังถือเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เมื่อผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ร่วมกันจับกุม นายสันยา ชัยพัฒน์ พร้อมยึดไม้พะยูงท่อนและรถยนต์กระบะทั้งสองคันดังกล่าวเป็นของกลาง กล่าวหาว่า มีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต คดีดังกล่าวพนักงานอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ไม่ขอริบรถยนต์ของกลางและมีหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ และพนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาของกลาง เพื่อให้คืนของกลาง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าไม่อาจคืนของกลางได้เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด อันเป็นการกระทำที่มิชอบ เนื่องจากพนักงานอัยการมีคำสั่งถึงที่สุดไม่ริบของกลาง ย่อมถือว่าคดีเกี่ยวกับของกลางถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะยึดรถยนต์กระบะของกลางไว้เป็นหลักฐานต่อไป การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานทางปกครอง และได้มีคำสั่งเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ สังกัด ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่คืนรถยนต์กระบะของกลาง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าเสื่อมราคารถ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะส่งมอบรถคืน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า เป็นการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา และตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๖๔ ทวิ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลอื่นใดที่บุคลได้ใช้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำความผิด จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และคดีนี้พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นคดียังไม่ถึงที่สุดตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่สามารถคืนของกลางให้แก่ผู้ฟ้องคดี การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑จึงชอบตามกฎหมายแล้ว และไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์ตามที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา เมื่อมูลความแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจยึดทรัพย์ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ร่วมกันจับกุม นายสันยา ชัยพัฒน์ พร้อมยึดไม้พะยูงท่อนและรถยนต์กระบะทั้งสองคันดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๑๖) มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๕ ประกอบพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๔ ทวิ ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดและยึดของกลางไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ จึงเป็นการดำเนินการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง อันอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ดังนั้นการขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่คืนรถยนต์กระบะของกลางและให้มีคำสั่งให้คืนรถยนต์กระบะของกลาง โดยต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางเหรียญทอง นาคเสน ผู้ฟ้องคดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ที่ ๑ ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ (อุบลราชธานี) ที่ ๒ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share