คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8624/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ทายาทจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนสมาชิกที่ตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินได้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 30 นั้น ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 22 ก่อน ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกทายาทจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของทายาท จึงไม่ใช่สิทธิตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่สมาชิกตาย ภายหลังที่ ม. ถึงแก่ความตาย จำเลยและ บ. ไปยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน ม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยและ บ. มีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศจัดสรรที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยและ บ. ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประกาศดังกล่าวจำเลยได้ทำกินกับโจทก์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิและไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคลองก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะภริยาของจำเลยก็ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำกินหาผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทรวมทั้งผลประโยชน์ที่หาได้จากที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเงื่อนไขว่า ภายในห้าปีนับแต่ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์จะโอนแก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวจำเลยก็ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยได้สิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นสามีภริยากับโจทก์นั่นเอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และมาตรา 1533

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกันและแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 3,439,250 บาท หากจำเลยไม่แบ่งให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากัน ให้จำเลยแบ่งสินสมรสที่ดินโฉนดเลขที่ 49071 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 58255 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 1 ไร่ 86 ตารางวา และบ้านเลขที่ 21/2 หมู่ที่ 8 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการหรือไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำสินสมรสขายโดยประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง แต่หากไม่สามารถนำสินสมรสใดมาแบ่งกันได้ ให้จำเลยคืนสินสมรสในส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 49071 เป็นเงิน 3,067,750 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 58255 เป็นเงิน 121,500 บาท และบ้านเลขที่ 21/2 เป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 49071 และ 58255 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มิใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยไม่ต้องแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังว่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2523 แต่จดทะเบียนสมรสกันภายหลังในวันที่ 15 มิถุนายน 2538 โจทก์จำเลยประกอบอาชีพทำไร่ สำหรับประเด็น เรื่องหย่า และบ้านเลขที่ 21/2 หมู่ที่ 8 ตำบลคลองม่วงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและบ้านเลขที่ 21/2 เป็นสินสมรส ส่วนรถยนต์กระบะและบ้านเลขที่ 22 ไม่ใช่สินสมรสและจำเลยไม่มีรายได้จากค่าเช่าที่ดินระหว่างสมรส
คดีคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49071 และ 58255 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา และเนื้อที่ 1 ไร่ 86 ตารางวา ตามลำดับ เป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยหรือไม่ โจทก์อ้างตนเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่ดินอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง นายหมี่ บิดาจำเลยเป็นสมาชิกของนิคมดังกล่าวและได้รับการจัดสรรมา ต่อมาในปี 2533 นายหมี่ได้ยกที่ดินทั้งสองให้โจทก์จำเลยทำกินซึ่งขณะนั้นที่ดินยังไม่มีเอกสารสิทธิ นายหมี่ถึงแก่กรรม ต่อมาปี 2548 นิคมสร้างตนเองลำตะคองได้จัดสรรที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยได้นำที่ดินทั้งสองแปลงไปขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โดยที่ดินแปลง 30 ไร่เศษ เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และที่ดินแปลง 1 ไร่เศษ ได้ออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ส่วนจำเลยนำสืบโดยอ้างตนเองนางบุญยัง พี่สาวจำเลยและนายอภิชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองลำตะคอง เป็นพยานสอดคล้องกับข้อนำสืบของโจทก์ แต่มีข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบโต้แย้งเพียงว่า เมื่อนายหมี่ถึงแก่กรรม จำเลยกับนางบุญยังซึ่งเป็นพี่สาวได้ยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคอง เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์แทนนายหมี่ ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกราษฎรเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำตะคลองพิจารณาอนุมัติให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ที่ดินทั้งสองแปลงเมื่อปี 2539 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าสมาชิกนิคมสร้างตนเองตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้นให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมและมีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทน” โดยมาตรา 22 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ซึ่งจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองได้ ต้องมีคุณสมบัติตาม (1) ถึง (7) โดยเฉพาะคุณสมบัติตาม (2) ที่ระบุว่า ต้องบรรลุนิติภาวะและเป็นหัวหน้าครอบครัว แสดงให้เห็นว่า การที่ทายาทจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนได้นั้นต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมและมีคุณสมบัติตามมาตรา 22 ก่อน ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาท มีลักษณะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสมาชิก จึงไม่ใช่สิทธิที่ตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่นายหมี่ตาย ทั้งปรากฏว่าภายหลังที่นายหมี่ถึงแก่กรรม จำเลยและนางบุญยังไปยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์แทนนายหมี่และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยและนางบุญยังมีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศจัดสรรที่ดินให้และจำเลยยังเบิกความตอบคำถามทนายโจทก์ว่า หลังจากที่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประกาศดังกล่าว จำเลยก็ได้ทำกินร่วมกับโจทก์ในที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งสิทธิที่จะได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิและไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคลองก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะภริยาของจำเลยก็ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำกินหาผลประโยชน์จากที่ดินทั้งสองแปลง รวมทั้งผลประโยชน์ที่หาได้จากที่ดินทั้งสองแปลง ย่อมเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย ทั้งที่ดินทั้งสองแปลงแม้จะมีเงื่อนไขว่าภายในห้าปีนับแต่ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์จะโอนแก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าว จำเลยก็ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยได้สิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นสามีภริยากับโจทก์ ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) และมาตรา 1533 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้นำที่ดินและบ้านเลขที่ 21/2 ที่พิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ โดยตีราคาที่ดินและบ้านพิพาทกำหนดให้จำเลยแบ่งเป็นเงินก่อนจะนำที่ดินและบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดนั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้องเพราะคดีนี้เป็นการขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ต้องแบ่งตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 สำหรับราคาที่ดินและบ้านพิพาทที่โจทก์กำหนดมานั้นก็เพื่อผลประโยชน์ในการเสียค่าขึ้นศาล ไม่ใช่ราคาที่นำมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลย เพราะในขณะเวลาที่จะมีการแบ่งกัน ราคาที่ดินและบ้านพิพาทอาจจะสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ หากนำเอาราคาที่ดินและบ้านพิพาทที่โจทก์กำหนดในตอนยื่นฟ้องเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม จะทำให้มีฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ไม่ถูกต้องตามหลักกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าว ดังนั้น การแบ่งกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาศาลล่างยังไม่ถูกต้องเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 49071 และที่ดินโฉนดเลขที่ 58255 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา และ 1 ไร่ 86 ตารางวา ตามลำดับ เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านเลขที่ 21/2 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมหากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ ให้ประมูลกันระหว่างโจทก์กับจำเลยและหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ให้นำที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านออกขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share