คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17827/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งซึ่งรวมเข้าเป็นบริษัทจำเลยที่ 1 ฐานะของจำเลยที่ 4 จึงต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1015 คือ แยกต่างหากจากนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานงานสอบสวนหมายเรียกให้ไปแก้ข้อกล่าวหาหรือถูกศาลหมายเรียกให้ไปต่อสู้คดีหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ก็เป็นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้แทนนิติบุคคลตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง หาทำให้จำเลยที่ 4 ที่เป็นผู้แทนนิติบุคคลกลายเป็นบุคคลคนเดียวกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 อันเป็นการลบล้างหลักกฎหมายในมาตรา 1015 ไปได้ไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มีข้อเท็จจริงเดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นบุคคลแยกต่างหากจากนิติบุคคลจำเลยที่ 1 และไม่ใช่บุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องในคดีก่อน ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84,86, 90, 267
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เห็นว่า คดีไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2549 หมายเลขแดงที่ 1962/2549 ของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) (ที่ถูก ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 4 ใหม่ตามรูปคดี (ที่ถูก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น)
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2549 ของศาลชั้นต้น ด้วยหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1ต้องถูกพนักงานสอบสวนหรือศาลหมายเรียกไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาลและต้องให้การแก้ข้อกล่าวหาหรือต่อสู้คดีในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 4 จึงไม่มีฐานะเป็นบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฐานะของบุคคลผู้รวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 ที่ว่า “ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ฐานะของจำเลยที่ 4 จึงต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว คือ แยกต่างหากจากนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ถูกพนักงานสอบสวนหมายเรียกให้ไปแก้ข้อกล่าวหาหรือถูกศาลหมายเรียกให้ไปต่อสู้คดีหลังจากจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างฎีกานั้น เป็นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง ที่ว่า “ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล” ซึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าวหาทำให้จำเลยที่ 4 ผู้แทนนิติบุคคลกลายเป็นบุคคลคนเดียวกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 อันเป็นการลบล้างหลักกฎหมายในมาตรา 1015 ไปได้ไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่ใช่บุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2549 ของศาลชั้นต้น จึงชอบแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share