คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตกลงเห็นชอบยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ย่อมไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 58 กรณีต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมกลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนขึ้นตามเดิมและมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินของตนได้ต่อไป
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่มีความสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลเห็นชอบด้วยก็ตามแต่การประนอมหนี้ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 59
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาคดีแพ่งซึ่งอยู่ภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่ง ตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีไม่ใช่เรื่องการบังคับคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับและหาใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขยายอายุความในคดีแพ่งไม่ ส่วนสิทธิในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับนั้น เป็นปัญหาในชั้นที่โจทก์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงไม่มีผลต่ออำนาจของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527 จำเลยทั้งเจ็ดเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามีหนี้ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 7 ต้องร่วมกันรับผิดเป็นเงิน 1,942,793.78 บาท จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นเงิน 345,574.80 บาท จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นเงิน 170,310.27 บาทจำเลยที่ 4 รับผิดเป็นเงิน 334,889.66 บาท จำเลยที่ 5 รับผิดเป็นเงิน 138,953.25บาท จำเลยที่ 6 รับผิดเป็นเงิน 327,703.30 บาท โจทก์ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดทราบแล้ว แต่จำเลยทั้งเจ็ดเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งเจ็ดไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งเจ็ดเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินคำพิพากษาคิดดอกเบี้ยค้างส่งเกินกว่า 5 ปี และหนี้สินระหว่างโจทก์จำเลยขาดอายุความฟ้องร้องแล้วจำนวนหนี้จึงไม่แน่นอน อีกทั้งมีการชำระหนี้จากจำเลยบางคนแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ไม่ใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 และที่ 7 จากสารบบความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5กับพวกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 803,078.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามจำนวนต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับที่จำเลยแต่ละคนออกให้แก่โจทก์ รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพื่อยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด ปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่พึงยึดมาชำระหนี้ได้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 และวันที่ 30 มกราคม2540 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตกลงเห็นชอบยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน2540 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 58 แล้ว ก็ต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมกลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนขึ้นตามเดิมและมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินของตนได้ต่อไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาต่อไป

คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ และมีความสามารถชำระหนี้ตามจำนวนหนี้ที่แต่ละคนจะต้องชำระได้ทั้งหมดหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระหนี้แก่โจทก์ วันที่ 24 ธันวาคม 2527 โจทก์ขอออกคำบังคับแก่จำเลยและส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2528 วันที่ 30 กันยายน 2537 โจทก์ขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายเพิ่มทรัพย์ ลีลากุล และนางสาวปราณทิพย์ศุกรเวทย์ศิริ พยานโจทก์ว่า นับแต่คดีแพ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กับพวกไม่เคยชำระหนี้แม้จำนวนเล็กน้อยให้แก่โจทก์เป็นเวลากว่า 9 ปี แล้วโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มาโดยตลอด คงมีแต่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ 334,889.66 บาท มีที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 35482 เนื้อที่ 25 ตารางวา ติดจำนองธนาคารกสิกรไทย จำกัด ในวงเงิน 300,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ นอกจากเงินเดือนของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เท่านั้น ข้อนำสืบของโจทก์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5)ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีแต่นายพรชาติ คงยา ทนายจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เพียงปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีความสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 4 อัตราเงินเดือน8,820 บาท เป็นหนี้โจทก์ 170,310.27 บาท จำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการพยาบาลตำแหน่งพยาบาลเทคนิค 4 ประจำโรงพยาบาลสมุทรสาคร อัตราเงินเดือน10,760 บาท เป็นหนี้โจทก์ 334,889.66 จำเลยที่ 5 เป็นพนักงานเทศบาลตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ อัตราเงินเดือน 9,470 บาท เป็นหนี้โจทก์ 138,953.25 บาท จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีเงินเดือนและมีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่โจทก์ได้นั้น เห็นว่าจำนวนหนี้จากต้นเงินซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระของจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 แต่ละคนนั้นเกิน 50,000 บาท แม้เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่างมีเงินเดือนพอจะขวนขวายชำระหนี้โจทก์ได้บ้าง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5ไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์แม้จำนวนเล็กน้อย แสดงว่าความสามารถชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่อาจชำระหนี้ให้โจทก์ได้บ้างเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นหนี้จำนวนแน่นอนมีภาระดอกเบี้ยและเป็นหนี้ตามคำพิพากษา เงินเดือนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5เป็นเงินเดือนของข้าราชการจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ไม่อาจยึดมาบังคับชำระหนี้ในคดีแพ่งสามัญได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) ส่วนทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5เช่น ที่ดินโฉนดเลขที่ 35482 จำนวนเนื้อที่ 25 ตารางวา ของจำเลยที่ 4 นั้นได้จำนองไว้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด วงเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2532 ปัจจุบันยังไม่ได้ไถ่จำนอง สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลยที่ 4 รับโอนเป็นเจ้าของรถเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 ภายหลังวันที่ 7ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลล้มละลาย ตามคำเบิกความของนายพรชาติไม่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีราคาเท่าใดจึงไม่น่าเชื่อว่ามีราคาสูงถึง 600,000 บาท ดังที่จำเลยที่ 4 ฎีกา นอกจากนี้นายพรชาติก็มิได้เบิกความยืนยันว่า รถยนต์คันดังกล่าวหากจะขายและเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์จะได้เงินจำนวนเท่าใด อีกทั้งจำเลยที่ 4 ยังเป็นหนี้และยังมิได้ไถ่จำนองไม่อาจฟังว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินที่ดินโดยปราศจากภาระติดพัน ประกอบกับจำเลยที่ 4 ไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์เลยแม้เพียงจำนวนเล็กน้อย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 4มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและมีหนี้สินน้อยกว่า 50,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 นอกจากเงินเดือนแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 มีทรัพย์สินอย่างใดที่โจทก์พึงจะยึดมาชำระหนี้ของโจทก์ได้ โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 คงมีแต่นายพรชาติทนายความจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นพยานเบิกความแต่เพียงปากเดียวเท่านั้นว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีรายได้เพียงพอชำระหนี้โจทก์ แต่ก็ขัดกับทางปฏิบัติของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5ไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ไม่ขวนขวายเพื่อชำระหนี้แม้จำนวนเล็กน้อยทั้งที่ได้รับคำบังคับแล้วกลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานถึง 9 ปี 10 ปี เช่นนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่มีความสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลเห็นชอบด้วยก็ตาม แต่การประนอมหนี้ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 59 คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด ทั้งไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ล้มละลาย

ส่วนที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี มูลหนี้ในคดีแพ่งจึงขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อไปการยื่นฟ้องคดีนี้จึงเป็นการขยายอายุความในคดีแพ่งนั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 โจทก์ชอบที่จะฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 476/2527 มีคำพิพากษาถึงที่สุด ข้อเท็จริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 476/2527มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2537ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 476/2527ซึ่งอยู่ภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่ง ตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีไม่ใช่เรื่องการบังคับคดี ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับ และหาใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขยายอายุความในคดีแพ่งไม่ ส่วนสิทธิในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับนั้น เป็นปัญหาในชั้นที่โจทก์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงไม่มีผลต่ออำนาจฟ้องของโจทก์

พิพากษายืน และให้จำหน่ายคดีสำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา

Share