คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้อุทธรณ์ของจำเลยจะไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์โต้แย้งในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายไว้โดยชัดแจ้งก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด มาส่งมอบให้แก่ ศ. หรือไม่ จึงยกฟ้องโจทก์ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว กับข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ดดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงเดียวที่เกี่ยวเนื่องกัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ และในเรื่องนี้ร้อยตำรวจเอก ณ. เบิกความว่า ขณะพยานกับพวกเข้าจับกุมจำเลย จำเลยไม่ยอมให้จับกุมและใช้มือทั้งสองข้างชกต่อย โดยพยานถูกชกต่อยที่บริเวณหน้าอก และจ่าสิบตำรวจ ช. เบิกความว่าถูกชกต่อยที่บริเวณใบหน้า แต่ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใด ๆ ว่าพยานทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถ้าถูกจำเลยชกต่อยจริง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าน่าจะมีร่องรอยผิวหนังถลอกหรือฟกช้ำบ้าง ตรงกันข้ามกับจำเลยที่มีบาดแผลฟกช้ำทั่วไปตามร่างกาย พูดไม่ได้ มีลักษณะปากแข็งเกร็งและมีรอยฟกช้ำบริเวณแขนและขา จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาจึงมีความสงสัยตามสมควรเช่นเดียวกันว่า จำเลยได้กระทำความผิดข้อหานี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 138
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1,991 เม็ด ซึ่งเป็นชนิดและปริมาณเดียวกัน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 แต่เพียงบทเดียว จำคุก 7 ปี และปรับ 500,000 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กับฐานพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 202 เม็ด ซึ่งเป็นชนิดและปริมาณเดียวกัน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งรับโทษเท่าความผิดสำเร็จแต่เพียงบทเดียว จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 11 ปี 1 เดือน และปรับ 900,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายศิริศักดิ์หรือต๊อกได้ที่บริเวณหน้าห้องพักเลขที่ 104/102 คอนโดมิเนียมรินทร์ทอง ถนนศรีนครินทร์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน 1,961 เม็ด ขณะนำไปส่งให้ลูกค้าที่ห้องพักดังกล่าว และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2550 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมกับยึดเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด เป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 2,163 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 1,961 เม็ด และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสอบสวนซึ่งต่างก็มิได้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่มีการรับมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวระหว่างนายศิริศักดิ์กับจำเลย คงรับทราบเรื่องราวดังกล่าวจากนายศิริศักดิ์เป็นผู้แจ้งให้ทราบเท่านั้น คำเบิกความของพยานโจทก์จึงเป็นพยานที่ได้รับการบอกเล่าจากนายศิริศักดิ์ รวมทั้งคำให้การของนายศิริศักดิ์ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่เป็นคำให้การซัดทอดของผู้ที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วในความผิดข้อหาเดียวกัน แม้คำให้การซัดทอดดังกล่าวจะมิได้เป็นเรื่องบอกปัดความรับผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดแต่เฉพาะจำเลยก็ตาม ก็เป็นพยานบอกเล่าที่อาจนำมาฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เท่านั้น ไม่มีน้ำหนักรับฟังโดยลำพังตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ที่บัญญัติไว้ว่า ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาตลอดว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน 1,961 เม็ด ที่ยึดได้จากนายศิริศักดิ์ ดังนั้นเมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสืบสนับสนุนให้มีน้ำหนักมั่นคง เพื่อให้เห็นว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่โจทก์กลับไม่มีพยานดังกล่าวมาสืบ โดยคงมีเพียงเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม พนักงานสอบสวนและรายงานบันทึกรายการการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างจำเลยกับนายศิริศักดิ์ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าจะเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับนายศิริศักดิ์มีเมทแอมเฟตามีน 1,961 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่าย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด ดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสองปากเบิกความได้ความในทำนองเดียวกันว่า หลังจากจับกุมนายศิริศักดิ์ได้จากการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 1,961 เม็ด ที่นายศิริศักดิ์นำมาส่งให้นายสมควรหรือควนที่ห้องพักเลขที่ 104/102 คอนโดมิเนียมรินทร์ทองแล้วมีการขยายผลการจับกุมจำเลย โดยนายศิริศักดิ์ยอมรับว่ารับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาจำหน่ายแล้วหลายครั้งจึงวางแผนให้นายศิริศักดิ์โทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยมารับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนล่วงหน้า 100,000 บาท ที่บ้านของนายศิริศักดิ์พร้อมกับให้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งอีก 200 เม็ด จำเลยมาตามนัดโดยขับรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุมาจากที่บริเวณหน้าบ้าน เมื่อจำเลยลงจากรถ นายศิริศักดิ์ซึ่งนั่งอยู่กับพยานโจทก์ทั้งสองแจ้งว่าเป็นจำเลย โดยจำเลยถือกล่องไม้ด้วยมือขวา เมื่อเดินมาได้ประมาณ 5 เมตร จำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดที่ซุ่มอยู่หลังบ้านที่เดินออกมา จำเลยจึงทิ้งกล่องไม้วิ่งหลบหนีเพื่อจะไปที่รถ แต่พยานโจทก์ทั้งสองจับกุมจำเลยไว้ได้ เมื่อตรวจดูกล่องไม้ที่จำเลยโยนทิ้งพบเมทแอมเฟตามีน 1 ถุง จำนวน 202 เม็ด ชั้นจับกุมจำเลยรับว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวนำมาส่งมอบให้นายศิริศักดิ์ เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมทั้งสองมีพิรุธหลายประการ นับแต่สถานที่ที่อ้างว่ามีการประชุมแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วนเพื่อจับกุมจำเลย โดยร้อยตำรวจเอกณัฎฐ์เบิกความว่า หลังจากเดินทางไปถึงบ้านของนายศิริศักดิ์และนายศิริศักดิ์ได้โทรศัพท์ไปหาจำเลยแล้ว จึงมีการประชุมวางแผนแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วนเพื่อจับกุมจำเลย แต่จ่าสิบตำรวจเชาวลิตกลับเบิกความว่า หลังจากที่ให้นายศิริศักดิ์โทรศัพท์ติดต่อจำเลยให้มารับเงินล่วงหน้าแล้ว ได้นำตัวนายศิริศักดิ์มาควบคุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนแล้วประชุมวางแผนกันโดยแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 ชุด และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ขณะเข้าจับกุมจำเลยที่อ้างว่าจับกุมจำเลยได้ขณะที่จำเลยลงจากรถนั้น จ่าสิบตำรวจเชาวลิตเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยจอดรถที่หน้าบ้านของนายศิริศักดิ์ห่างจากจุดที่พยานนั่งอยู่ประมาณ 20 เมตร แล้วลงจากรถถือกล่องไม้ด้วยมือขวา ในช่วงนั้นเจ้าพนักงานตำรวจชุดที่ 2 ที่อยู่หลังบ้านได้เดินออกมาทำให้จำเลยตกใจและวิ่งหลบหนี พยานกับพวกจึงตามจับจำเลยไว้ได้นั้น เห็นว่า หากมีกรณีของการจับกุมจำเลยได้ขณะที่จำเลยนำรถมาจอดที่หน้าบ้านนายศิริศักดิ์จริงแล้ว เมื่อจำเลยลงจากรถเดินจะเข้าบ้านและเห็นคนเดินออกมาจากหลังบ้านซึ่งจ่าสิบตำรวจเชาวลิตอ้างว่าจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจที่เดินออกมาทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจคนดังกล่าวก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบว่าแต่งเครื่องแบบหรือไม่อย่างไร ทำไมจำเลยจะต้องวิ่งหนี เพราะหากมีบุคคลดังกล่าวจริงบุคคลนั้นอาจเป็นเพื่อนหรือญาติกับนายศิริศักดิ์ก็ได้ ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องวิ่งหนี รวมทั้งไม่มีการนำเจ้าพนักงานตำรวจคนดังกล่าวมาเบิกความถึงเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวว่ามีกรณีดังเช่นที่พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมเบิกความหรือไม่ นอกจากนี้ในการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสุเนตย์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการไปตรวจสถานที่เกิดเหตุบริเวณที่อ้างว่ามีการจับกุมจำเลยที่บริเวณหน้าบ้านของนายศิริศักดิ์ รวมทั้งไม่มีการทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเพื่อให้ทราบถึงจุดหรือบริเวณที่มีการกล่าวอ้างตลอดจนสภาพแวดล้อมบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อประกอบคดี ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธทั้งเรื่องการมีเมทแอมเฟตามีน 202 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวและสถานที่ที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมว่าจุดที่จำเลยถูกจับกุมไม่ใช่บริเวณหน้าบ้านของนายศิริศักดิ์ แต่ถูกจับกุมในขณะที่จำเลยขับรถยนต์ไปขายลำไยในตำบลแหลมประดู่ มีรถยนต์กระบะสีบรอนซ์ขับปาดหน้าให้จอดแล้วมีผู้ชาย 4 คน ไม่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจบังคับให้จำเลยลงจากรถแล้วจับกุมจำเลย นอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจเอกสุเนตย์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านถึงสภาพร่างกายของจำเลยในวันที่พยานไปรับตัวจำเลยออกจากโรงพยาบาลเพื่อสอบสวนว่า จำเลยมีบาดแผลฟกช้ำทั่วไปตามร่างกาย พูดไม่ได้ มีลักษณะปากแข็งเกร็งและมีรอยฟกช้ำบริเวณแขนและขาทั้งสองข้าง หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ จึงได้สอบปากคำจำเลยที่เรือนจำ โดยจำเลยแจ้งว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมทำร้าย ทั้งให้รายละเอียดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ผู้จับกุมกล่าวหา ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยถึงสภาพบาดแผลถูกทำร้ายทุบตีรวมทั้งมีการนำไฟมาช็อตบริเวณหู ต้นคอ แขนบริเวณข้อมือและที่ขาบริเวณข้อเท้า รวมทั้งตามลำตัวพยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้เท่าที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 202 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share