คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7183/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ตามหนังสือดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ดังนั้น วันเวลาที่โจทก์ที่ 2 ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 น่าจะอยู่ภายในเดือนมกราคม 2538 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใช้หนังสือค้ำประกันปลอม นั้น ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้จึงมิได้มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา การใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคท้าย กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องจำเลยทั้งสี่ภายใน 1 ปี นับแต่เดือนมกราคม 2538 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่นำมาฟ้องคดีนี้จึงขาดอายุความแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 249,136,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดจากการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำและใช้หนังสือค้ำประกันปลอมของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างและตัวการของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้หนังสือค้ำประกันปลอมดังกล่าวฟ้องบังคับโจทก์ทั้งสองให้ชำระหนี้ ปัญหาจึงมีอยู่ว่า โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ประกอบหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และใบตอบรับไปรษณีย์ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของนายทรรศนัย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2537 หนังสือดังกล่าวระบุให้โจทก์ทั้งสองนำเงินไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือมิฉะนั้นจะดำเนินคดี โจทก์ที่ 2 นำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาร้อยโทสมบูรณ์ ทนายความและไปพบจำเลยที่ 2 ขอตรวจสอบหนังสือค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมกับโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยทำหนังสือค้ำประกันดังกล่าวโดยหนังสือค้ำประกันมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้พิมพ์และเป็นพยาน ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในขณะนั้นแล้ว หากอนุมานวันเวลาที่โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ตามหนังสือดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ดังนั้น วันเวลาที่โจทก์ที่ 2 ได้ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 น่าจะอยู่ภายในเดือนมกราคม 2538 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใช้หนังสือค้ำประกันปลอม นั้น ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้จึงมิได้มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา การใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคท้าย กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องจำเลยทั้งสี่ภายใน 1 ปี นับแต่เดือนมกราคม 2538 แต่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่นำมาฟ้องคดีนี้จึงขาดอายุความแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความและพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง หาใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีไม่ครบถ้วนอันจะเป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาแต่ประการใด ส่วนข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายฟ้องเป็นสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไว้โดยชัดแจ้งดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น ทั้งเป็นการกระทำคนละวาระกับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ทั้งสองบรรยายมาในคำฟ้อง จึงไม่เป็นประเด็นที่จำเลยทั้งสี่จะต้องให้การต่อสู้คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองเนื่องจากฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share