คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องซ่อมเสร็จเมื่อใด แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้อู่ น. ซ่อมต่อ รวมเวลาที่รถยนต์คันพิพาทอยู่ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเพียงพอแก่การซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยเทียบเคียงกับที่หลังจากนำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่แห่งใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ซ่อมเสร็จ นอกจากนี้จำเลยซ่อมรถยนต์ได้เพียงประมาณร้อยละ 30 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยระบุให้เวลาจำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และเมื่อโจทก์ไปขอรับรถในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนด จำเลยก็ยอมให้รับรถไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่โจทก์ให้แก่จำเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่สามารถซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 138,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 106,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มีนาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผค 9041 ชลบุรี จากนายวิลาศในประเภทชดใช้ความเสียหายโดยสิ้นเชิง มีกำหนดเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2550 ตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 นายวิลาศขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่น ทำให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ชื่อว่า “อู่ธนยนต์” ได้เสนอราคาซ่อมรถยนต์คันพิพาทที่เอาประกันภัยแก่โจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยซ่อมในราคา 150,000 บาท และได้จ่ายเงินทดรองจ่ายค่าอะไหล่ให้แก่จำเลย 75,000 บาท จำเลยรับรถยนต์ไปทำการซ่อมแต่ซ่อมไม่แล้วเสร็จ นายวิลาศได้ร้องเรียนต่อสำนักงานประกันภัยจังหวัดสมุทรปราการเรียกค่าขาดประโยชน์จากโจทก์เนื่องจากการซ่อมรถยนต์ล่าช้า ต่อมาโจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้อู่นิคมการาจซ่อมใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง จึงเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมอบพร้อมกับจ่ายเงินค่าขาดประโยชน์ 63,000 บาท ให้แก่นายวิลาศ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องซ่อมเสร็จเมื่อใด แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามสัญญา ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้อู่นิคมการาจซ่อมต่อ รวมเวลาที่รถยนต์คันพิพาทอยู่ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเพียงพอแก่การซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากคำเบิกความพยานโจทก์ว่า หลังจากนำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่แห่งใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ซ่อมเสร็จ แต่ปรากฏว่าจำเลยซ่อมได้เพียงประมาณร้อยละ 30 และโจทก์มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาไปถึงจำเลย ระบุให้เวลาจำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 แต่เมื่อโจทก์ไปขอรับรถในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือดังกล่าว จำเลยก็ยอมให้รับรถไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่โจทก์ให้แก่จำเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่สามารถซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว และการที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยรับผิดเป็นเงิน 31,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว แต่การที่จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทไปได้ประมาณร้อยละ 30 จำเลยย่อมมีสิทธิหักค่าการงานส่วนนี้ซึ่งคำนวณแล้วเป็นเงิน 45,000 บาท ออกจากเงินทดรองจ่ายค่าอะไหล่จำนวน 75,000 บาท ที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์ คงเหลือเงินทดรองจ่ายค่าอะไหล่ที่ต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 30,000 บาท สำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์เป็นรายละเอียดที่ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 61,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มีนาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share