คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16150/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียวกับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 586,214.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดำเนินการยึดทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และมาตรา 426 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 420 มิใช่ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรงตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียวกับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share