คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน อยู่ในแนวเขตที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 และอยู่ในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 76 จะต้องกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ให้เท่าราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 20 ธันวาคม 2524และวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวใช้บังคับตามลำดับ มิใช่กำหนดค่าทดแทนโดยถือตามอัตราในบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว เรื่องเกี่ยวกับการสร้างทางพิเศษต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 มาใช้บังคับ แต่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 24 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดค่าทำขวัญไว้จึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงอันได้แก่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 และข้อ 76 ในเรื่องค่าทดแทนและดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 23 วรรคสอง กำหนดไว้เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนในเขตท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 กำหนดค่าทดแทนให้เท่าราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76(1) กำหนดแล้ว ดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง จึงต้องนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับเพื่อให้สอดคล้องกันด้วยจะนับแต่วันที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในเขตท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2530 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2530 มาใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคสองตอนท้ายบัญญัติไว้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา(พระโขนง) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525กำหนดให้ทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ที่จะสร้างเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2524ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524เพื่อที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตยานนาวา เขตพระโขนง เขตปทุมวันเขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 12 มีนาคม 2525 กำหนดให้ทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก ในเขตท้องที่ดังกล่าวเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโดยเร่งด่วนที่ดินของโจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนเป็นเนื้อที่907 ตารางวา และ 1,190 ตารางวา ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ 1,180,200 บาท และ 1,437,600 บาทตามลำดับ โดยไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับตารางวาละ 8,000 บาท คิดเป็นราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน 7,256,000 บาท และ 9,520,000 บาทตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีกเป็นเงิน 6,075,800 บาท และ 8,082,400 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2525และวันที่ 19 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ตามลำดับ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 1,860,713.75 บาทและ 2,727,810 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2ใช้เงินให้โจทก์ 7,936,513.75 บาท และ 10,810,210 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 6,075,800บาท และ 8,082,400 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามมติของคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งได้กำหนดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 และพระราชกำหนดเปลี่ยนแปลงราคาปานกลางของที่ดินที่กำหนดไว้สำหรับประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2528 ประกอบกับสภาพที่ดินและทำเลที่ตั้งแล้ว ที่ดินตามโฉนดทั้งสองแปลงของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เวนคืนรวมเนื้อที่ 907 ตารางวา จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,800 บาท และ 1,200 บาท รวมเป็นเงิน1,180,200 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ที่ดินของโจทก์อยู่ในซอยมิได้อยู่ในย่านชุมนุมชน ห่างไกลโรงพยาบาลและโรงเรียน ราคาซื้อขายไม่ถึงตารางวาละ 8,000 บาท ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่566/2527 ตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก คณะกรรมการได้กำหนดค่าทดแทนโดยให้ถือราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งได้กำหนดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 19491ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 เวนคืน 198 ตารางวา จำเลยที่ 2 ได้กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,800 บาท 16 ตารางวา เป็นเงิน 28,800 บาทและตารางวาละ 1,200 บาท 182 ตารางวา เป็นเงิน 218,400 บาทรวมค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้เป็นเงิน 247,200 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 ถูกจำเลยที่ 2 เวนคืน 992 ตารางวา กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,200 บาท เป็นเงิน 1,190,400 บาทรวมค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน 1,437,600 บาทเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ที่ดินของโจทก์เป็นที่ตั้งโกดังเก็บสินค้ามิได้อยู่ในย่านชุมนุมชน ราคาซื้อขายจึงไม่ถึงตารางวาละ8,000 บาท ดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เรียกร้องนับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2524 เพราะจำเลยที่ 2ยังไม่ผิดนัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์3,354,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับฟ้องของโจทก์สำนวนหลังให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์สำนวนแรกอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน3,354,800 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์เป็นเงิน4,512,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 จนกว่าชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 และ 5534ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในแนวเขตที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 เพื่อที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตยานนาวา เขตพระโขนงเขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ธันวาคม 2524เป็นเนื้อที่ 1,190 ตารางวา และอยู่ในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งพระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นเนื้อที่ 907 ตารางวา จำเลยที่ 2 กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นสองอัตราคือ ตารางวาละ 1,800 บาท จำนวน 153ตารางวา อัตราตารางวาละ 1,200 บาท จำนวน 754 ตารางวา จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำนวน 1,190 ตารางวาเป็นสองอัตราคือ ตารางวาละ 1,800 บาท จำนวน 16 ตารางวาตารางวาละ 1,200 จำนวน 1,174 ตารางวา
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1ในข้อแรกมีว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวนเท่าใด เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 กำหนดว่า”เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น (2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น…” ดังนั้น การกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงต้องกำหนดให้เท่าราคาของที่ดินโจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 20 ธันวาคม 2524 และวันที่2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 ใช้บังคับ ตามลำดับแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือตามอัตราในบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว มิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อโจทก์นำสืบโดยมีพยานเอกสารประกอบฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 20599, 12370และ 19990 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินโจทก์มีการจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2519 วันที่ 24 พฤษภาคม 2521และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 2,921 บาท4,265 บาท และ 5,882 บาท ตามลำดับ ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดิน รวม 6 ฉบับ เอกสารหมาย จ.19ถึง จ.20 ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาตามอัตราที่จำเลยที่ 1 และที่2 ถือเป็นเกณฑ์กำหนดมาก ย่อมเห็นได้ว่าค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดให้แก่โจทก์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่คัดค้านว่าค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 กำหนดเป็นการชอบแล้วจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอัตราตารางวาละ 8,000 บาทนั้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าที่ดินบริเวณเดียวกันกับของโจทก์มีการซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับในราคาตารางวาละ 8,000 บาท โจทก์คงนำสืบได้ความเพียงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 19990 ซึ่งอยู่ติดซอยศรีนครเช่นเดียวกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 ของโจทก์โดยอยู่ห่างกันเพียงประมาณ200 เมตร สภาพของที่ดินเหมือนกัน มีการซื้อขายกันเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 5,882 บาทดังนั้น ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 จึงควรมีราคาเฉลี่ยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 เท่ากับราคาเฉลี่ยของที่ดินโฉนดเลขที่ 19990 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5534 ซึ่งอยู่ด้านหลังและมีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 ของโจทก์มีระยะห่างซอยศรีนครประมาณ 20 เมตร มีทางออกสู่ซอยศรีนครได้สองช่องทางปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงบริเวณที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเอกสารหมาย จ.10 ก็ควรมีราคาเฉลี่ยใกล้เคียงกันและเนื่องจากที่ดินจะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับใช้บังคับห่าง ดังนั้น เมื่อที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ตามคำเบิกความของนายมนตรี องค์พนสารกุล พยานโจทก์ ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 ก็จะมีราคาเฉลี่ยในปลายปี พ.ศ. 2524 และต้นปีพ.ศ. 2525 ประมาณตารางวาละ 6,470 บาท ส่วนโฉนดเลขที่ 5534ก็จะมีราคาใกล้เคียงกัน ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาว่า ค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรได้รับในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 8,000 บาท จึงยังรับฟังไม่ได้ แต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดราคาให้ในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 5,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ต่ำไปกว่าราคาเฉลี่ยของที่ดินโฉนดเลขที่19990 ที่ซื้อขายกันในปี พ.ศ. 2523 ถึง 882 บาท เป็นการฝืนต่อความจริง ซึ่งที่ดินบริเวณดังกล่าวราคามีแต่เพิ่มสูงขึ้นดังปรากฏตามราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20599, 12370 และ19990 ที่กล่าวไว้แล้ว นอกจากนี้ นายมนตรี องค์พนสารกุลซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด ในหน้าที่ประเมินหลักทรัพย์มานาน 16 ปี ก็เบิกความยืนยันว่า ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 20599, 12370 และ 19990 จะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อคำนวณถึงวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับใช้บังคับ ที่ดินโฉนดเลขที่ 19990จะมีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 6,470 บาท ฉะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 19491ของโจทก์ ซึ่งสภาพที่ดินและทำเลเหมือนกับที่ดินโฉนดเลขที่ 19990จึงควรมีราคาเฉลี่ยในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับใช้บังคับตารางวาละ 6,470 บาทด้วย และที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 ก็ควรมีราคาใกล้เคียงกัน เมื่อจำเลยทั้งสองกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 แตกต่างกัน 600 บาท ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5534 จึงมีราคาในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 5,870 บาทดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงควรมีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 8,000 บาท จึงเห็นได้ว่าสูงเกินไปและที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 5,000 บาทนั้นก็ต่ำเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดราคาซื้อขายที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 ตามราคาธรรมดาในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวใช้บังคับให้ในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 6,470 บาท และ 5,870 บาท ตามลำดับ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังขึ้นบางส่วน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 จำนวนเนื้อที่180 ตารางวา และ 727 ตารางวา รวม 907 ตารางวากับ 198 ตารางวาและ 992 ตารางวา รวม 1,190 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงต้องชำระค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำนวน 5,432,090 บาท และ7,104,100 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพียง 1,180,200 บาท จำเลยที่ 2 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพียง1,437,600 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน4,251,890 บาท จำเลยที่ 2 ต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน5,666,500 บาท
ประเด็นที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวาพ.ศ. 2530 ใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ24 วรรคสองตอนท้าย ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จะนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสองตอนท้าย อันเป็นกฎหมายบททั่วไปมาใช้หาได้ไม่ นั้นเห็นว่ากรณีของจำเลยที่ 1เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างทางพิเศษ แม้จะต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มาใช้บังคับก็ตาม แต่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดค่าทำขวัญไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงอันได้แก่ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 และข้อ 76 ในเรื่องเงินค่าทดแทนและดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 23 วรรคสองกำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง กำหนดว่า”ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ” และคดีนี้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งจะต้องกำหนดค่าตอบแทนเท่าราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76(1) กำหนดแล้ว ดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 67 วรรคสอง จึงต้องนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเพื่อให้สอดคล้องกันด้วยจะนับแต่วันที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2530 มาใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคสองตอนท้ายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525ใช้บังคับศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4,251,890 บาท ให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 5,666,500 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share