แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ข้อ 2.1 เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลยัง ไม่มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ห้ามอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวระหว่าง พิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 จึงไม่รับอุทธรณ์ข้อ 2.1 ส่วนอุทธรณ์ ข้อ 2.2 เป็นการ ไม่รับคำคู่ความซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3) จึงรับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 2.2
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 นั้น เป็นปัญหา ข้อกฎหมาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ให้สิทธิยื่น อุทธรณ์ได้ และการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่ง เดิมที่สั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยเป็นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ไว้พิจารณานั้น จึงเป็นการไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18 หรือ วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องหากเสร็จไปเฉพาะ แต่ประเด็นบางข้อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3) อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 จึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ข้อ 2.1 ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 22)
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางสั่งว่าประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นไว้ว่า จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่เพียงใดนั้น ยังไม่ยุติและศาลยังต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป เพราะคดีนี้เป็น คดีแรงงาน มิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาจึงไม่จำต้องฟัง ข้อเท็จจริงในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 17042/2527 หมายเลขแดง ที่ 24466/2529 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ซึ่งโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกทรัพย์รายเดียวและจำนวนเดียวกันกับที่กล่าวฟ้อง ในคดีนี้ และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2533 และให้โจทก์นำสืบในประเด็น ข้อพิพาทดังกล่าวต่อไป และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอน คำสั่งเดิมที่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา โดยสั่งว่าฟ้องแย้งของจำเลยมิได้มีมูลมาจากฟ้องเดิมจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 16)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 19)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว แม้อุทธรณ์ข้อ 2.1 ของจำเลยจะเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ แต่ก็ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม อันได้แก่การที่จะต้องพิจารณาว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 หรือไม่ และเข้าข้อยกเว้นให้จำเลยอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องรอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาเสียก่อนตาม มาตรา 228(3) หรือไม่ เห็นว่าการที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้คงประเด็นที่ว่า จำเลยได้ยักยอกทรัพย์ ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างหรือไม่เพียงใด และให้โจทก์สืบพยานในประเด็นนี้ต่อไปนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) และไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3) เพราะคำสั่งดังกล่าว มิได้เป็นการทำให้คดีเสร็จไปเฉพาะแต่ บางข้อแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการคงประเด็นที่ได้กำหนดไว้ ตามเดิม จำเลยจึงยังอุทธรณ์คำสั่งนี้ไม่ได้ เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ข้อ 2.1 ของจำเลยมานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง