แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ที่บริษัท ก. และบริษัท ซ. นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ และ ว.จ.3 กับถุงห่อผลไม้ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 มีลักษณะเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นถุง 2 ชั้น มีถุงห่อหุ้มชั้นนอกและถุงห่อหุ้มชั้นในถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีการเคลือบสีดำอยู่ด้านในเพื่อกรองแสงไม่ให้แสงสว่างเข้าไปในถุงและถุงห่อหุ้มชั้นในเคลือบด้วยคาร์บอนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถุงห่อหุ้มชั้นนอกและชั้นในมีปลายเปิดด้านบนสำหรับรองรับการสอดเข้าของผลไม้ที่ต้องการห่อ ด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีรูเจาะทะลุถึงด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นใน และด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นช่องเว้าออกด้านข้างมีรูเจาะทะลุถึงด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นในบริเวณก้นถุงมีรูระบายน้ำและระบายอากาศมีปีกที่มีลวดเหล็กอยู่ข้างในยื่นออกมาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ปีกที่ลวดเหล็กอยู่คนละด้านกันซึ่งปีกที่ยื่นออกมาจะใช้ในการรัดกิ่งไม้หรือใช้มัดปากถุงไม่ให้ถุงห่อผลไม้หลุดออกจากผลไม้ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 มีลักษณะเหมือนกับถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ของจำเลย และการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 เหมือนกับข้อถือสิทธิสำหรับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยซึ่งระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ถุงห่อผลไม้ประกอบด้วยถุงห่อหุ้มชั้นนอกที่เป็นถุงชั้นนอกที่มีปลายเปิดด้านบนชั้นนอกและพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นนอกและพื้นผิวด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้นสำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในซึ่งถุงห่อหุ้มชั้นในจะเป็นถุงชั้นในที่อยู่ด้านในถุงห้อหุ้มชั้นนอกและมีปลายเปิดด้านบนชั้นในสำหรับเป็นช่องทางสวมเข้าทางด้านบนของผลไม้ที่ต้องการห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นในอย่างน้อยหนึ่งด้านจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งด้านของถุงห้อหุ้มชั้นในจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในอีกชั้นหนึ่ง แม้การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 จะมิใช่การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ก็ตาม แต่ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยาน ว.จ.2 และ ว.จ.3 เป็นการประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วนอกและในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เมื่อการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วอันมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ ต้องถือว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ไม่สมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคสอง แม้การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่โจทก์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยก็ตาม แต่เมื่ออนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้เลขที่ 4343 ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 เป็นอนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 สัตต การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 35 ทวิ และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลย และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ระงับการละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลย ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวน 450,000 บาท และค่าเสียหายจำนวนเดือนละ 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะหยุดการละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 4343 คำขอเลขที่ 0603001857 ของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งคำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 จำเลยยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรถุงห่อผลไม้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามคำขอเลขที่ 0603001857 กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ให้จำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 โจทก์นำเข้าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2551 จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงโจทก์ให้ระงับหรือละเว้นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยเลขที่ 4343 เป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตรซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว มิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่อันทำให้อนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีนายชรินทร์ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นและเบิกความเพิ่มเติมว่า โจทก์นำเข้าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่จำเลยอ้างว่าละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลยจากไต้หวันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งถุงห่อผลไม้ดังกล่าวมีจำหน่ายแพร่หลายอยู่แล้วที่ไต้หวันตั้งแต่ปี 2535 ส่วนในประเทศไทยมีบริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด บริษัทไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทธานียามาสยาม จำกัด นำถุงห่อผลไม้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว และโจทก์ยังมีนายไวยวิทย์ พนักงานบริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด และนายเอกวิชญ์ กรรมการบริษัท ก. เกียรติประเสริฐอควาเทรด จำกัด มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนโดยนายไวยวิทย์เบิกความว่า บริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด นำเข้าถุงห่อผลไม้จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 โดยครั้งแรกนำเข้ามาจำนวนประมาณ 40,000 ใบ และครั้งต่อมาเพิ่มจำนวนครั้งละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2,200,000 ใบ ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ถุงห่อผลไม้ที่นำเข้ามาดังกล่าวมีลักษณะคล้ายถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ของจำเลยโดยมีขนาดใหญ่กว่าของจำเลยเล็กน้อย มีปีกยื่นออกมาเหมือนกัน ด้านในจะมีถุง 2 ชั้น ด้านในสุดเป็นกระดาษคาร์บอนสีดำ ด้านนอกเป็นถุงสีน้ำตาลและด้านล่างจะมีรู 3 รู เพื่อใช้เป็นที่ระบายอากาศและระบายน้ำเหมือนกัน ส่วนนายเอกวิชญ์เบิกความว่า บริษัท ก. เกียรติประเสริฐอควาเทรด จำกัด นำถุงห่อผลไม้จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย จ.13 จ.14 และ จ.15 โดยครั้งแรกนำเข้ามาจำนวนประมาณ 2,000,000 ใบ ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 กับถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยาน ว.ล.3 ของจำเลยมีลักษณะภายนอกเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ปีกซึ่งยื่นออกไปคนละด้าน ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.ล.3 มีถุงอยู่ด้านในสองชั้นเป็นกระดาษคาร์บอนเพื่อป้องกันแสงไม่ให้เข้าไปถูกผลไม้เหมือนกัน กับมีรูระบายน้ำและรูระบายอากาศอยู่ที่ด้านล่างของถุงห่อผลไม้เหมือนกัน ปีกที่ยื่นออกมามีลวดอยู่ข้างในใช้ในการรัดกิ่งไม้เพื่อไม่ให้ถุงหลุดออกจากผลไม้เหมือนกัน แต่ที่ปีกอยู่คนละด้านก็เพื่อให้เกษตรกรที่ถนัดมือซ้ายหรือมือขวาเลือกใช้ ถุงห่อผลไม้ทั้งสองดังกล่าวด้านนอกถุงจะเคลือบด้วยพาราฟีนเพื่อป้องกันการซึมของน้ำเหมือนกัน เมื่อพิเคราะห์เปรียบเทียบถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ของบริษัท ก. เกียรติประเสริฐอควาเทรด จำกัด และถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.3 ซึ่งเป็นของบริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด กับถุงห่อผลไม้ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 แล้ว เห็นได้ว่าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 กับถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 มีลักษณะเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นถุง 2 ชั้น มีถุงห่อหุ้มชั้นนอกและถุงห่อหุ้มชั้นใน ถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีการเคลือบสีดำอยู่ด้านในเพื่อกรองแสงไม่ให้แสงสว่างเข้าไปในถุงและถุงห่อหุ้มชั้นในเคลือบด้วยคาร์บอนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถุงห่อหุ้มชั้นนอกและชั้นในมีปลายเปิดด้านบนสำหรับรองรับการสอดเข้าของผลไม้ที่ต้องการห่อ ด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีรูเจาะทะลุถึงด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นใน และด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นช่องเว้าออกด้านข้างมีรูเจาะทะลุถึงด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นในบริเวณก้นถุงมีรูระบายน้ำและระบายอากาศ มีปีกที่มีลวดเหล็กอยู่ข้างในยื่นออกมาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ปีกที่มีลวดเหล็กอยู่คนละด้านกัน ซึ่งปีกที่ยื่นออกมาจะใช้ในการรัดกิ่งไม้หรือใช้มัดปากถุงไม่ให้ถุงห่อผลไม้หลุดออกจากผลไม้ ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 มีลักษณะเหมือนกับถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ของจำเลย และการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 เหมือนกับข้อถือสิทธิสำหรับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลย ซึ่งระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ถุงห่อผลไม้ประกอบด้วยถุงห่อหุ้มชั้นนอกที่เป็นถุงชั้นนอกที่มีปลายเปิดด้านบนชั้นนอกและพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นนอกและพื้นผิวด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้นสำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในซึ่งถุงห่อหุ้มชั้นในจะเป็นถุงชั้นในที่อยู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นนอกและมีปลายเปิดด้านบนชั้นในสำหรับเป็นช่องทางสวมเข้าทางด้านบนของผลไม้ที่ต้องการห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นในอย่างน้อยหนึ่งด้านจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งด้านของถุงห่อหุ้มชั้นในจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในอีกชั้นหนึ่ง ที่โจทก์นำสืบว่าบริษัทไชน์โฟร์ท จำกัด นำเข้าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.3 จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 โดยครั้งแรกนำเข้ามาจำหน่ายจำนวนประมาณ 40,000 ใบ และครั้งต่อมาเพิ่มจำนวนครั้งละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2,200,000 ใบ ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัท ก. เกียรติประเสริฐอควาเทรด จำกัด นำถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยครั้งแรกนำเข้ามาจำนวนประมาณ 2,000,000 ใบ นั้น ไม่ปรากฏว่าบริษัททั้งสองดังกล่าวนำถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 ไปจำหน่ายจำนวนเท่าใด แก่ผู้ใดและที่ใดในประเทศไทย อันจะแสดงให้เห็นว่าถุงห่อผลไม้ดังกล่าวมีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2547 ก่อนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 เป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคสอง (1) อย่างไรก็ตาม แม้จะรับฟังไม่ได้ว่าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 เป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวก็รับฟังได้ว่าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยาน ว.จ.2 และ ว.จ.3 เป็นการประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วนอกและในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เมื่อการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วอันมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ย่อมไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ ต้องถือว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ไม่สมบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เป็นอนุสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตรนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า การที่โจทก์นำเข้าถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 มาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 ตามสำเนาใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมใบเสร็จรับเงิน เป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 และโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวน 450,000 บาท และค่าเสียหายจำนวนเดือนละ 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะหยุดการละเมิดอนุสิทธิบัตรดังกล่าวตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่โจทก์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ก็ตาม แต่เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 เป็นอนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 สัตต การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 35 ทวิ และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ