คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน 29 แปลง ซึ่งการพิจารณาคดีศาลจะต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกัน รวมถึงเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์เป็นรายแปลง แม้โจทก์จะมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีการกล่าวแก้ข้อพิพาทว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 12,000 บาท และคำนวณราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลงแล้วไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย นั้น ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินทั้ง 29 แปลง เฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครองเนื้อที่ 30 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้ง 26 แปลง ตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขาย กับจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ กับให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินทั้ง 26 แปลง คืนกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิในการครอบครองปรปักษ์ต่อไป หากจำเลยที่ 2 เพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ทั้ง 3 แปลง ตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ขาย กับจำเลยที่ 3 ผู้ซื้อ กับให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินทั้ง 3 แปลง คืนกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิในการครอบครองปรปักษ์ต่อไป หากจำเลยที่ 3 เพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาททั้ง 26 แปลง ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะออกไปจากที่ดิน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงมีราคาประเมินไม่เกินแปลงละ 300,000 บาท แม้โจทก์ฟ้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์และราคาทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงพิษณุโลก จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงพิษณุโลก ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาในศาลแขวงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทแต่ละแปลง บางแปลงโจทก์ก็ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงบางส่วน การพิจารณาคดีของโจทก์จึงต้องพิจารณาเป็นรายแปลงว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงใดบ้าง และบางแปลงโจทก์ได้ครอบครองที่ดินส่วนใด ศาลจะต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกัน รวมถึงเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์เป็นรายแปลง แม้โจทก์จะมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่มีการกล่าวแก้ข้อพิพาทว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 12,000 บาท และที่ดินพิพาททั้ง 29 แปลง แต่ละแปลงมีเนื้อที่ประมาณไร่เศษและบางแปลงโจทก์ก็อ้างว่าครอบครองบางส่วนไม่ถึง 1 ไร่ เมื่อการพิจารณาจะต้องพิจารณาและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นรายแปลงตามคำขอบังคับของโจทก์ การคำนวณทุนทรัพย์จึงต้องแยกเป็นรายแปลง กรณีจึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทของที่ดินแต่ละแปลงไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย นั้น ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share