แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามขอให้พิพากษาว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 2200 ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยออกจากผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวลงในสารบัญจดทะเบียน ให้จำเลยดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 9 ส่วน โดยให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามในสารบัญจดทะเบียน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ทั้งสามมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินคนละ 1 ใน 9 ส่วน ได้ ให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,536,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยเพิกเฉยให้ศาลมีคำสั่งจับกุมคุมขังจำเลยไว้จนกว่าจะส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2200 ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ของนายกวย ผู้ตาย ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนายกวย ให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนการโอนดังกล่าวและแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 9 ส่วน หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากตกลงกันไม่ได้ให้ประมูลราคากันเองระหว่างทายาทของนายกวยที่มีสิทธิรับมรดกแล้วนำเงินที่ได้แบ่งกันตามส่วน หากไม่เป็นที่ตกลงกันให้นำที่ดินทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเสียก่อนว่า ขณะจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยังเป็นมรดกของนายกวยหรือไม่ เห็นว่า ขณะนายกวยถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2525 นายกวยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและก่อนตายนายกวยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนายกวย ก่อนตายนายวิเชียรบุตรคนสุดท้องและครอบครัวพักอาศัยและครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนายกวยและหลังจากนายกวยถึงแก่ความตายแล้ว นายวีเชียรและครอบครัวยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ที่จำเลยนำสืบว่า นายกวยเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่นายวิเชียรหลังจากนายกวยถึงแก่ความตายแล้ว ก็มีแต่คำเบิกความลอย ๆ ของนายชรัณ พยานจำเลย ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยเพียงปากเดียว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่นายวิเชียรยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลังจากนายกวยถึงแก่ความตายแล้ว ย่อมถือเป็นการครอบครองแทนทายาททุกคนของนายกวย เมื่อนายวิเชียรมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองที่ดินพิพาทไปยังทายาทของนายกวยว่าไม่เจตนาจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของนายกวยอีกต่อไป จนกระทั่งนายวิเชียรและครอบครัวย้ายออกจากที่ดินพิพาทไปเมื่อปี 2547 อันเป็นเวลานานถึง 20 ปี นายวิเชียรก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ดินพิพาทยังเป็นทรัพย์มรดกของนายกวยจนกระทั่งจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2551 ดังนั้น ขณะจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทยังเป็นมรดกของนายกวย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของนายกวยมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นหรือไม่ เห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่านายวิเชียรตกลงแลกที่ดินพิพาทกับที่ดินของจำเลยที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นายวิเชียรและครอบครัวเข้าไปครอบครองทำกินอยู่ในปัจจุบันนั้น จำเลยคงมีแต่นายชรัณเป็นพยานเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียว โดยมิได้นำนายวิเชียรเข้าเบิกความเป็นพยาน แม้จำเลยจะอ้างส่งสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 39924 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 47 ไร่ 3 งาน เป็นพยานแต่ก็ปรากฏว่าชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ใช่ชื่อของนายวิเชียรแต่อย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พฤติการณ์น่าจะเป็นไปได้ว่าทายาทคนอื่นซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนายวิเชียร เห็นว่านายวิเชียรน้องคนสุดท้องไม่มีที่อยู่อาศัยและทำกิน จึงยินยอมให้นายวิเชียรและครอบครัวทำกินในที่ดินพิพาท และก็ไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นได้แสดงเจตนาสละมรดกส่วนของตนให้แก่นายวิเชียร ก็ต้องถือว่านายวิเชียรครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น การที่นายวิเชียรย้ายครอบครัวออกไปจากที่ดินพิพาทหลังจากครอบครองที่ดินพิพาทมากว่า 20 ปี โดยพี่น้องคนอื่นไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว อาจทำให้จำเลยเห็นเป็นโอกาสและเข้าใจว่าพี่น้องคนอื่นไม่สนใจที่ดินพิพาทแปลงนี้แล้ว จึงดำเนินการจดทะเบียนโอนใส่ชื่อของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะที่ตนเป็นผู้จัดการมรดกของนายกวยซึ่งโดยหน้าที่ผู้จัดการมรดก จำเลยต้องนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทของนายกวย การที่จำเลยดำเนินการโอนใส่ชื่อตนแต่เพียงผู้เดียวในโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่แจ้งให้แก่โจทก์ทั้งสามและทายาทอื่นให้ทราบ ย่อมถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น จึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่ เห็นว่า กำหนดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ คดีนี้ ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของนายกวยเจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้นางสมพงษ์ ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่นายกวยถึงแก่ความตาย แต่นางสมพงษ์ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของนายกวยคนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานสืบมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วน เท่าจำนวนทายาทของนายกวย โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายกวยคนละ 1 ใน 9 ส่วน จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
อนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี สมควรแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลย ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7