แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จำคุก 4 ปี และปรับ 250,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 คดีถึงที่สุดแต่จำเลยไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระค่าปรับ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากธนาคารของจำเลยเพื่อนำมาชำระค่าปรับ จำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นถอนการอายัดเงินฝากธนาคารโดยอ้างว่า ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ไม่อาจบังคับโทษปรับแก่จำเลยได้อีกนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดเงินเพื่อชำระค่าปรับ จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ที่วางหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาจำเลย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง, 101/1 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง), 102 จำคุก 8 ปี และปรับ 500,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 4 ปี และปรับ 250,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คำขอเพิ่มโทษให้ยก คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยไม่ชำระค่าปรับ พนักงานอัยการจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยมาชำระค่าปรับและเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝาก 117,143.90 บาท ของจำเลยไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำมาชำระค่าปรับ
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นถอนการอายัดเงินฝากเงินดังกล่าว โดยอ้างว่าได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ไม่อาจบังคับโทษปรับแก่จำเลยได้อีก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดเงินเพื่อชำระค่าปรับนั้น จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลย