แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยผู้เป็นนายจ้างมอบหมายให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไปทำความเข้าใจกับพนักงานของจำเลยเรื่องจำเลยย้ายสถานประกอบกิจการไปจังหวัดสมุทรสาครและให้พนักงานแสดงความประสงค์ว่าจะย้ายไปยังที่ทำงานใหม่หรือไม่ แต่โจทก์แจ้ง ส. ผู้จัดการโรงงานว่าจำเลยจะเล่นงานและบีบให้ ส. ออกจากงาน กับบอก ท. พนักงานแผนกบัญชีว่าหากลงชื่อในใบแสดงความประสงค์ย้ายไปทำงานที่สำนักงานใหม่แล้วไม่ยอมไป เมื่อถึงเวลาย้ายจะถูกจำเลยฟ้องคดี พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการเล็งเห็นผลได้ว่าอาจก่อให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างพนักงานกับจำเลย ทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่พนักงานอันจะส่งผลกระทบต่อการย้ายสถานประกอบกิจการของจำเลยโดยตรงที่อาจเกิดความยุ่งยากมากขึ้น โจทก์ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ทำความเข้าใจกับพนักงานไม่สมควรกระทำเช่นนี้ โจทก์กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34,436 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 17,510 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 2,918 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 17,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 34,436 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยของเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,510 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 30 ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อ้างเหตุโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง โดยโจทก์ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริหารของจำเลยให้ทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับการย้ายสำนักงานและโรงงาน และให้พนักงานแสดงความประสงค์ว่าจะย้ายไปยังที่ทำการใหม่หรือไม่ โจทก์เป็นผู้แจ้งแก่นายสุเทพ ผู้จัดการโรงงานว่ากรรมการจำเลยจะเล่นงานและหาทางบีบให้นายสุเทพออกจากการทำงาน นายสุเทพนำเรื่องดังกล่าวไปสอบถามกรรมการผู้จัดการจำเลยและได้รับแจ้งว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น อีกทั้งยังแจ้งให้นายสุเทพทราบว่าประสงค์จะให้นายสุเทพดูแลการย้ายโรงงานให้เรียบร้อย โจทก์แจ้งพนักงานแผนกบัญชีโดยเฉพาะนางสาวนงนภัส และนางสาวทิพมน ว่าหากลงชื่อในใบแสดงความประสงค์ว่าจะย้ายไปทำงานที่สำนักงานใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาย้ายแล้วไม่ยอมไปจะถูกจำเลยฟ้องคดี ต่อมาจำเลยชี้แจงยืนยันในที่ประชุมว่าจำเลยจะไม่มีการฟ้องร้องพนักงานที่แสดงความประสงค์จะย้ายไปทำงานที่สำนักงานใหม่แต่ภายหลังไม่ยอมย้าย ซึ่งการยืนยันของจำเลยดังกล่าวนี้กระทำขึ้นถัดจากวันที่โจทก์บอกแก่พนักงานแผนกบัญชีดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้โจทก์ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องจากจำเลยครบถ้วนแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เพียงบอกกล่าวให้นายสุเทพทราบเป็นการส่วนตัวเนื่องจากความสนิทสนมกรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรง ส่วนข้อความที่บอกกล่าวแก่พนักงานแผนกบัญชีมีลักษณะเป็นการออกความเห็นมากกว่าจะยืนยันข้อเท็จจริง ไม่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ ยุยง ส่งเสริม ทั้งไม่ถึงขนาดที่จะทำให้จำเลยถูกต่อต้าน หรือแตกแยกสามัคคีในหมู่พนักงานหรือทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในหมู่พนักงาน คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการอันเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการเลิกจ้างโดยไม่ชอบ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สรรหาและฝึกอบรมได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ไปทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการไปยังจังหวัดสมุทรสาครและให้พนักงานแสดงความประสงค์ว่าจะย้ายไปยังที่ทำงานใหม่หรือไม่ แต่โจทก์กลับเป็นผู้บอกนายสุเทพว่ากรรมการจำเลยจะเล่นงานและหาทางบีบให้นายสุเทพออกจากงาน จนทำให้นายสุเทพต้องนำเรื่องไปสอบถามกรรมการผู้จัดการจำเลย แต่ได้รับแจ้งว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นและประสงค์จะให้นายสุเทพดูแลการย้ายสถานประกอบกิจการให้เรียบร้อย อีกทั้งโจทก์ยังได้บอกพนักงานแผนกบัญชีโดยเฉพาะนางสาวนงนภัสและนางสาวทิพมนว่าหากลงชื่อในใบแสดงความประสงค์ว่าจะย้ายไปทำงานที่สำนักงานใหม่แล้วไม่ยอมไป เมื่อถึงเวลาย้ายจะถูกจำเลยฟ้องคดี จนทำให้ผู้บริหารจำเลยต้องประชุมชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการเล็งเห็นผลได้ว่าอาจก่อให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างพนักงานกับจำเลยทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่พนักงานอันจะส่งผลกระทบต่อการย้ายสถานประกอบกิจการของจำเลยโดยตรงที่อาจเกิดความยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ทำความเข้าใจกับพนักงานในเรื่องดังกล่าวไม่สมควรกระทำเช่นนี้การกระทำของโจทก์นอกจากเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตแล้ว ยังเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอีกด้วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์