คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13854/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน 709,532.42 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยปรับลดลง 1,704,192.58 บาท คำชี้ขาดจึงเป็นไปตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์บางส่วนแล้ว แต่สำหรับในส่วนที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดเห็นด้วยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น หากโจทก์ไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ เมื่อในส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดแล้วว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เพราะฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
นอกจากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว โจทก์ยังเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อน ค่าบัตรร่วมงานประจำปี ค่าสมาชิกศิษย์เก่า แม้โจทก์เป็นองค์กรทางคริสต์ศาสนามีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนาให้การศึกษาและดำเนินกิจการด้านสาธารณกุศลต่าง ๆ อีกทั้งไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเรียนจากนักเรียนยากจน นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของครูและพนักงานในโรงเรียน และนักเรียนบางรายซึ่งติดค้างไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการเรียนได้ก็ตาม แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่น และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากนักเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาอันไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9
สำหรับโรงเรียนของโจทก์เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นหาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของดำเนินกิจการเอง ทางนำสืบไม่ปรากฏโรงเรียนที่ตั้งในเขตเดียวกับโรงเรียนโจทก์มาเทียบเคียงได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินตามหลักเกณฑ์ที่มีการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดค่าเช่ามาตรฐานสอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีโรงเรียนเอกชนอื่นแตกต่างออกไป นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีคำชี้ขาดลดค่ารายปีแต่ละปีโดยคำนวณลดลงปีละ 3 เดือน ตามที่โจทก์อ้างว่ามีการหยุดเทอมภาคฤดูร้อน ทั้งที่ปรากฏตามทางนำสืบว่า โจทก์มีการเรียกเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อนแสดงว่ามีการเรียนการสอนในระยะเวลาดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เป็นคุณแก่โจทก์ในส่วนนี้ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 2,413,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2550 ตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด. 8) เล่มที่ 2 เลขที่ 15 และ 23 ถึง 31 ลงวันที่ 10 กันยายน 2550 กับเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดตามหนังสือสำนักงานเทศบาลตำบลลำไทร ที่ ปท. 53002/170 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2551 เรื่อง แจ้งคำชี้ขาดมติคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 2,413,725 บาท แก่โจทก์ หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ว่า วันที่ 7 กันยายน 2550 จำเลยที่ 1 ส่งใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2550 สำหรับทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ดำเนินกิจการโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ที่ 9 ตำบลลำไทร อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นค่ารายปีปีละ 1,930,980 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 241,372.50 บาท วันที่ 8 ตุลาคม 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2550 ต่อจำเลยที่ 1 วันที่ 12 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 2 มีหนังสือ ที่ ปท. 53002/170 แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับทรัพย์สินดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 709,532.42 บาท แก่โจทก์ โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่โจทก์ยังไม่เห็นด้วย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในส่วนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดไม่เห็นด้วยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 บัญญัติว่า ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจในคำชี้ขาดจะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกก็ได้… ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับทรัพย์สินพิพาทรวมทั้งสิ้น 709,532.42 บาท ในส่วนของภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,704,192.58 บาท จึงเป็นไปตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์บางส่วนแล้ว แต่สำหรับในส่วนที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดเห็นด้วยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น หากโจทก์ไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ เมื่อในส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดแล้วว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เพราะฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า โรงเรียนพระวิสุทธิวงส์เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชน ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นๆ และค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป ทั้งผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต้องซื้อใบสมัครในราคาสูงถึงชุดละ 100 บาท โรงเรียนดังกล่าวจึงไม่เป็นโรงเรียนสาธารณะเจ้าของโรงเรียนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 บัญญัติว่า ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ ท่านให้ยกเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ … (3) ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรือนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้เฉพาะในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินของโรงเรียนที่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องเป็นโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและต้องใช้เฉพาะในการศึกษาเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของบาทหลวงชาญชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ บาทหลวงธนากร ผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ นางสุชีวี หัวหน้าฝ่ายธุรการและการเงินโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์และนางน้ำฝน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ พยานโจทก์ว่า รายได้ของโรงเรียนดังกล่าว มาจาก 1. เงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการร้อยละ 60 2. ค่าธรรมเนียมการเรียน ซึ่งทางโรงเรียนเก็บไม่เต็มจำนวนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนด 3. ค่าธรรมเนียมอื่น เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเสริม ค่าเรียนเสริมวิชาคอมพิวเตอร์ ค่าเรียนเสริมวิชาภาษาอังกฤษ โดยในปี 2547 ถึง 2549 โรงเรียนมีรายรับมากกว่ารายจ่าย 2,073,283.83 บาท 1,238,792.32 บาท และ 766,588.98 บาท ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายนิมิต พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินทรัพย์สินของโจทก์ที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นจากนักเรียนเป็นอัตราที่แน่นอน รวมทั้งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกหลายอย่างเช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป เมื่อพิจารณาระเบียบการรับสมัครนักเรียนตามเอกสารดังกล่าวปรากฏว่า นอกจากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้วทางโรงเรียนยังเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อน ค่าบัตรร่วมงานประจำปี ค่าสมาชิกศิษย์เก่าอีก แม้โจทก์เป็นองค์กรทางคริสต์ศาสนามีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนาให้การศึกษาและดำเนินกิจการด้านสาธารณะกุศลต่าง ๆ อีกทั้งไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเรียนจากนักเรียนยากจน นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของครูและพนักงานในโรงเรียน และนักเรียนบางรายซึ่งติดค้างไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการเรียนได้ก็ตาม แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่น และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากนักเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล โรงเรียนดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาอันไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โรงเรียนพระวิสุทธิวงส์เป็นโรงเรียนสาธารณะไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากมีการสืบพยานหลักฐานกันมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า “ค่ารายปี” หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ และวรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นเป็นค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับกรณีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกรณีโรงเรียนของโจทก์ได้ความจากนายนิมิต ปลัดเทศบาลตำบลลำไทร พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และนางลักษณา ผู้อำนวยการกองคลังของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยทั้งสองที่เบิกความในทำนองเดียวกันว่า โรงเรียนของโจทก์ตั้งอยู่ในทำเลที่ 1 ของการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ในเขตสุขาภิบาลลำไทร (เทศบาลตำบลลำไทร) และเนื่องจากเป็นกรณีที่โจทก์ดำเนินกิจการเองจึงเป็นกรณีหาค่าเช่าไม่ได้ ในการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวจึงใช้หลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณประเมินค่ารายปีเพื่อการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามหนังสือที่ว่าการอำเภอลำลูกกา ที่ ปท. 0516/350 ลงวันที่ 26 มกราคม 2537 ประเภททรัพย์สิน (โรงเรือนประเภทพิเศษ) รหัส 5.06 โรงเรียนเอกชนคำนวณตารางเมตรละ 25 บาท (ต่อเดือน) เป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึง 2550 คิดเป็นค่ารายปีปีละ 1,930,980 บาท เป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 241,372.50 บาท ส่วนเหตุที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่ากันทุกปี เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เข้าสำรวจการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อาคารโรงเรียนของโจทก์ประกอบกับที่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแสดงรายการใช้ประโยชน์โรงเรียนพิพาทตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งเตือนให้ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินไปตามจำนวนทรัพย์สินตามที่สำรวจได้ อีกทั้งใช้ราคาของปี 2537 เป็นเกณฑ์คำนวณ นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ได้มีมติที่ประชุมลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ลดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จากเดิม 2,413,725 บาท เหลือ 709,532.42 บาท ตามข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ใช้และระยะเวลาที่เปิดทำการสอนที่ได้รับจากโจทก์ ซึ่งได้ลดจำนวนเดือนจาก 12 เดือน เหลือเพียง 9 เดือน โดยไม่นำระยะเวลาที่โจทก์เปิดทำการสอนในภาคฤดูร้อนมาคำนวณเป็นค่ารายปี ส่วนโจทก์มีบาทหลวงธนากร และนายอภิชาต ครูโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์เบิกความในทำนองว่า เกณฑ์ราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางที่ใช้ในการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมิได้คำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ แต่กำหนดขึ้นตามการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งเป็นการกำหนดแบ่งเขตขึ้นเอง แต่โรงเรียนของโจทก์ตั้งอยู่ไกลชุมชนห่างไกลความเจริญ การคมนาคมไม่สะดวก สภาพทำเลที่ตั้งมิได้ตั้งอยู่ในแหล่งที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ดีดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จัดให้อยู่ทำเลที่ 1 นอกจากนี้โรงเรียนของโจทก์เมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่นซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองคูคตที่มีความเจริญสูงกว่ามาก โรงเรียนของโจทก์อยู่ติดกับถนนสายลำลูกกาเป็นถนนราดยาง 2 ช่องเดินรถสวนกัน มีรถเมล์วิ่งผ่าน 1 ชั่วโมงต่อคัน ส่วนเขตเทศบาลเมืองคูคตเป็นถนน 4 ช่องเดินรถ ชุมชนหนาแน่น การจราจรติดขัด มีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก สภาพเศรษฐกิจดีและเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งเทศบาลเมืองคูคตกำหนดค่ารายปีสำหรับเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโรงเรียนระเบียบวิทยาและโรงเรียนไกรลาสศึกษาในอัตราตารางเมตรละ 5 บาท ต่อเดือน ตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร เห็นว่า สำหรับโรงเรียนของโจทก์เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นหาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงต้องประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ทางนำสืบของโจทก์จะอ้างถึงโรงเรียนระเบียบวิทยาและโรงเรียนไกรลาสศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองคูคต แต่โรงเรียนทั้งสองไม่ได้อยู่ในเขตของจำเลยที่ 1 เมื่อทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏข้อเท็จจริงถึงทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของจำเลยที่ 1 นั้นมาเทียบเคียงได้ กรณีจึงต้องพิจารณาว่า การประเมินค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สำหรับโรงเรียนของโจทก์ตามแบบการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ในเขตสุขาภิบาลลำไทร และการกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตสุขาภิบาลลำไทร จะนำมาถือเป็นจำนวนเงินซึ่งโรงเรียนของโจทก์สมควรให้เช่าได้ในหนึ่งปีหรือไม่ เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จัดโรงเรียนของโจทก์อยู่ในทำเลที่ 1 ประเภททรัพย์สินโรงเรียนเอกชนอันเป็นโรงเรือนประเภทพิเศษมีค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยตารางเมตรละ 25 บาทต่อเดือน ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ใช้เป็นแนวทางในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในเขตของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าในประจำปีภาษีพิพาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกันกับโจทก์รายอื่น ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ต่างไปจากวิธีการที่จัดเก็บจากโจทก์ นอกจากนี้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ยังได้ลดค่ารายปีโดยคิดตารางเมตรละ 25 บาท ตามข้อเท็จจริงในแต่ละปี และคิดตามระยะเวลาตารางการจัดการเรียนการสอนปีละ 9 เดือน สนามหญ้าคิดตามระยะเวลา 9 เดือน เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบ ให้โรงเรือนของโจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาททั้งสิ้น 709,532.42 บาท ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และหนังสือ ที่ ปท. 53002/170 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2551 เรื่อง แจ้งคำชี้ขาดมติคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาประเมินใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงโจทก์ได้เรียกเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อนย่อมมีการเรียนการสอนในระยะเวลาดังกล่าวด้วย คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคุณแก่โจทก์ในส่วนนี้ด้วย กรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จึงมีเหตุผลอันสมควรที่จะถือได้ว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กำหนดมานั้นเป็นจำนวนเงินที่โรงเรียนของโจทก์สมควรให้เช่าได้ในหนึ่งปี ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึง 2550 จึงชอบแล้ว
อนึ่ง คดีนี้ทุนทรัพย์ในศาลภาษีอากรกลางและในชั้นอุทธรณ์ปรากฏในใบแจ้งคำชี้ขาด สำหรับประจำปีภาษี 2541 จำนวน 59,400 บาท ประจำปีภาษี 2542 จำนวน 62,100 บาท ประจำปีภาษี 2543 ถึง 2545 จำนวนปีละ 68,400 บาทประจำปีภาษี 2546 จำนวน 75,461.06 บาท ประจำปีภาษี 2547 จำนวน 77,855.34 บาท ประจำปีภาษี 2548 จำนวน 79,205.34 บาท และประจำปีภาษี 2549 ถึง 2550 จำนวนปีละ 80,555.34 บาท ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ 2,413,725 บาท เป็นค่าขึ้นศาลชั้นละ 60,342.50 บาท เป็นกรณีโจทก์และจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์และจำเลยทั้งสอง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาแต่ละชั้นศาลแก่โจทก์และจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share