คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4860/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นของธนาคาร ก. แทนจำเลยจำนวน 1,000 หุ้น จำเลยชำระเงินค่าหุ้นให้แก่โจทก์แล้วแต่โจทก์ยังมิได้ส่งมอบใบหุ้นให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายหุ้นของธนาคาร ก. จำนวน 2,000 หุ้น โดยเป็นหุ้นที่จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อไว้แทนจำนวน 1,000 หุ้นดังกล่าวรวมกับหุ้นที่จำเลยมีอยู่เดิม โจทก์ได้ขายให้จำเลยแล้วในราคาหุ้นละ 303 บาท และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าขายหุ้นดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้วในส่วนของหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น เป็นเงิน301,182 บาท โดยหักค่าธรรมเนียมการขายไว้ ต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบใบหุ้นของธนาคาร ก. ให้แก่จำเลยอีกจำนวน1,000 หุ้น โดยสำคัญผิดว่าเป็นหุ้นที่จำเลยได้สั่งซื้อไว้และโจทก์ยังมิได้ส่งมอบใบหุ้นให้ จำเลยรับไว้แล้วจำเลยส่งมอบใบหุ้นจำนวนเดียวกันนี้คืนโจทก์ในวันเดียวกันโจทก์ก็รับไว้โดยเข้าใจว่าเป็นการส่งมอบใบหุ้นที่จำเลยได้สั่งขายในส่วนที่ยังค้างการส่งมอบและได้จ่ายเงินค่าขายหุ้นที่เหลือจำนวน 301,182 บาท ให้แก่จำเลยไป การที่จำเลยรับใบหุ้นจากโจทก์โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ที่โจทก์อีก จึงเป็นการรับไว้โดยไม่สุจริต จำเลยต้องคืนหุ้น 1,000 หุ้น ให้โจทก์เต็มจำนวน หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคา 301,182 บาท แก่โจทก์เท่าจำนวนราคาหุ้นที่จำเลยรับไปจากโจทก์มิใช่ราคา 303,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบใบหุ้นของธนาคารกรุงเทพจำกัด จำนวน 1,000 หุ้น พร้อมตราสารการโอนหุ้นซึ่งผู้มีชื่อหรือจำเลยเป็นผู้สลักหลังใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นเรียบร้อยแล้วคืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบใบหุ้นให้แก่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 303,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 1,000 หุ้นให้แก่จำเลย จำเลยชำระเงินค่าหุ้นให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังมิได้ส่งมอบใบหุ้นให้แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม2530 จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัดแทนจำเลยจำนวน 2,000 หุ้น เมื่อโจทก์ขายหุ้นตามที่จำเลยสั่งได้แล้ววันที่ 30 ตุลาคม 2530 จำเลยส่งมอบใบหุ้นที่สั่งขายให้แก่โจทก์จำนวน 1,000 หุ้น ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 1,000 หุ้น จำเลยขอเลื่อนการส่งมอบให้แก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ยังมิได้ส่งมอบใบหุ้นที่จำเลยสั่งซื้อให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ส่งมอบใบหุ้นที่จำเลยสั่งซื้อให้แก่จำเลย จำเลยจึงส่งมอบใบหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ในวันเดียวกันให้เป็นใบหุ้นที่จำเลยสั่งขายและขอเลื่อนการส่งมอบ จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่21 ตุลาคม 2530 จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซื้อหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด แทนจำเลย จำนวน 1,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ357 บาท ซึ่งโจทก์ก็ซื้อให้ได้ตามที่จำเลยสั่ง วันที่ 27 ตุลาคม2530 จำเลยได้ชำระเงินค่าซื้อหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น พร้อมค่าธรรมเนียมการซื้อให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบใบหุ้นจำนวนที่ซื้อได้ให้แก่จำเลย และในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด แทนจำเลยจำนวน2,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 303 บาท ซึ่งโจทก์ก็ขายแทนให้จำเลยได้เมื่อหักค่าธรรมเนียมการขายแล้วจำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าขายหุ้นทั้ง 2,000 หุ้น จำนวน 602,364 บาท วันที่ 30 ตุลาคม 2530โจทก์ได้ชำระเงินค่าขายหุ้นให้แก่จำเลยไปครึ่งหนึ่งหรือเท่าจำนวน 1,000 หุ้นก่อน เป็นเงิน 301,182 บาท โดยโจทก์ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.2 ว่า “ลูกค้ามีหุ้นส่งมอบ 1,000 หุ้นที่เหลือ 1,000 หุ้น เลื่อนส่งมอบ” ต่อมาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2530โจทก์ส่งมอบใบหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 1,000 หุ้นเท่าที่จำเลยเคยสั่งซื้อไว้ให้แก่จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้ส่งมอบใบหุ้นดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์อ้างว่าเป็นจำนวนหุ้นส่วนที่จำเลยยังค้างส่งมอบแก่โจทก์อยู่เท่าจำนวนหุ้นที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลย ซึ่งโจทก์ก็ได้รับไว้และจ่ายเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เหลืออยู่อีก 1,000 หุ้น เป็นเงินจำนวน 301,182 บาทให้แก่จำเลย การที่โจทก์ได้ส่งมอบใบหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัดจำนวน 1,000 หุ้น ให้แก่จำเลยไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2530จึงเป็นการส่งมอบใบหุ้นให้แก่จำเลยเกินไปโดยความสำคัญผิดของโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเรียกคืนใบหุ้นดังกล่าวฐานลาภมิควรได้พฤติการณ์ของจำเลยดังได้วินิจฉัยมาเป็นการที่จำเลยรับเงินค่าขายหุ้น 1,000 หุ้น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2530 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการขายหุ้นจำนวนที่จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อไว้แทน จึงไม่มีหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ที่โจทก์ เมื่อโจทก์ส่งมอบใบหุ้นให้จำเลยในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 จำนวน 1,000 หุ้น โดยความสำคัญผิดจำเลยก็ยังรับไว้อีกจึงเป็นการรับใบหุ้นดังกล่าวไว้โดยไม่สุจริตจำเลยต้องคืนหุ้น 1,000 หุ้น ให้โจทก์เต็มจำนวน หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคา แต่เมื่อจำเลยขายหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ในวันที่16 พฤศจิกายน 2530 โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยเพียง 301,182 บาทมิใช่ 303,000 บาท ตามฟ้องโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้คิดหักค่าธรรมเนียมการขายไว้แล้วตามเอกสารหมาย จ.2 ดังนั้น หากจำเลยคืนหุ้นฐานลาภมิควรได้จำนวน 1,000 หุ้น ให้โจทก์ไม่ได้ จำเลยต้องรับผิดใช้ราคาให้โจทก์ 301,,182 บาท เท่าจำนวนราคาหุ้นที่จำเลยรับไปจากโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบใบหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัดจำนวน 1,000 หุ้น ที่จำเลยรับเกินไปพร้อมตราสารการโอนหุ้นซึ่งผู้มีชื่อหรือจำเลยเป็นผู้สลักหลังใบหุ้นและตราสารการโอนหุ้นเรียบร้อยแล้วคืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่สามารถส่งมอบใบหุ้นดังกล่าวได้ก็ให้ใช้ราคาเท่าจำนวนเงินที่จำเลยรับไปเป็นเงิน301,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแทน

Share