คำวินิจฉัยที่ 96/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองอ้างว่ามีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีรวมทั้งบังคับให้คืน ส.ป.ก. ๔-๐๑ และนำที่ดินพิพาทไปให้ผู้อื่นเช่า ต่อมาผู้ฟ้องคดียื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าไม้ถาวรไม่ใช่เขตเดินสำรวจ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกสัญญาเช่าหรือห้ามมิให้ต่ออายุสัญญาเช่าที่พิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้ฟ้องคดีขาดการครอบครองเกินหนึ่งปีหลังจากถูกเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนที่พิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะมิได้แจ้งการครอบครองภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่เป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒๗ ตรี ไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๖/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ นายชัยสิทธิ์ แก้วสำราญ ที่ ๑ นายพยุงศักดิ์ ศิริโนนม่วง ที่ ๒ นางถนอมจิตร อนุศรี ที่ ๓ นายคำกลิ้ง บุษบงค์ ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่นเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๖/๒๕๕๔ โดยศาลอนุญาตให้นายเสถียรพงศ์ ถมคำ เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณโนนท่อน (สำราญ)ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ต่อจากบรรพบุรุษซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๔๐ ก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลบังคับใช้ เมื่อปี ๒๔๙๗ ทางราชการประกาศให้ราษฎรแจ้งสิทธิการครอบครองที่ดิน ต่อมาปี ๒๕๐๗ คณะรัฐมนตรีมีมติให้พื้นที่บางส่วนของท้องที่ตำบลสำราญเป็นเขตป่าไม้ถาวร และปี ๒๕๑๗ ได้ประกาศให้พื้นที่บางส่วนของเขตป่าไม้ถาวรเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาจังหวัดขอนแก่นประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นการสำรวจรังวัดพิสูจน์สอบสวนสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งบรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค. ๒) แต่ในปี ๒๕๒๑ มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดได้รับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แต่ก็ร้องเรียนต่อทางราชการในกรณีดังกล่าวไว้ และเรื่องอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ต่อมาทางราชการบังคับให้คืน ส.ป.ก. ๔-๐๑โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นทำประโยชน์ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำที่ดินดังกล่าวไปให้สหกรณ์ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเช่าทำประโยชน์เป็นเวลา ๑๕ ปี ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดคัดค้านจนกระทั่งทางราชการมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดเมื่อครบสัญญาเช่าในปี ๒๕๕๑ ต่อมาปี ๒๕๕๔ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าไม้ถาวรไม่ใช่เขตเดินสำรวจ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดเห็นว่าแม้ที่ดินจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่สิทธิครอบครองที่ดินมีมาก่อนประกาศให้ที่พิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกสัญญาเช่าหรือห้ามมิให้ต่ออายุสัญญาเช่าที่พิพาทและดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิม เพื่อส่งมอบกลับคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดกับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดตามสัดส่วนที่ปรากฏการครอบครอง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงมีอำนาจให้เกษตรกรหรือสถาบันการเกษตรเข้าครอบครอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดกล่าวอ้างว่าบรรพบุรุษครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่เป็นความจริง เพราะสภาพที่ดินเป็นป่ารกทึบและหากครอบครองก็จะต้องแจ้งสิทธิครอบครอง (ส.ค. ๑) ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิในที่ดิน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินและที่พิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. จึงคัดเลือกเกษตรกรให้เข้าทำประโยชน์และออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แต่ในปี ๒๕๒๗ ผู้ได้รับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในที่พิพาทขายที่ดินของตนตามส่วนให้แก่บุคคลอื่น ในปี ๒๕๓๒ ส.ป.ก. จึงเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าวและนำที่พิพาทไปให้เกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรเช่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดขาดการครอบครองเกินหนึ่งปี ไม่มีสิทธิเรียกคืนที่พิพาท
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแม้จะอ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษซึ่งได้ทำประโยชน์ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับก็ตาม แต่มิได้แจ้งการครอบครองภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และไม่เป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ตรี ไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดตามมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด เนื้อที่ ๑๔๒ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา ไปให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงวัวและควายแห่งจังหวัดขอนแก่นเช่าทำประโยชน์ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด ขอให้พิพากษามิให้ต่ออายุสัญญาเช่าที่พิพาทต่อไป รวมถึงให้ดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิม เพื่อส่งมอบกลับคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดหรือเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินหรือเขตป่าไม้ถาวรหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดอ้างว่าเป็นของตนไปให้สหกรณ์ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น (สหกรณ์ผู้เลี้ยงวัวและควายแห่งจังหวัดขอนแก่น) เช่าและทำประโยชน์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประกอบกับคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่พิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดได้ขอให้บังคับไปถึงการออกคำสั่งหรือการกระทำการตามอำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอยู่ด้วย แต่ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดที่กล่าวอ้างถึงสิทธิของตนในที่พิพาทมาแต่เดิม เห็นได้ว่าการที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทหรือที่พิพาทเป็นที่ป่าไม้ถาวรซึ่งไม่มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากบรรพบุรุษซึ่งครอบครองทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินมีผลบังคับใช้ บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค. ๒) ไว้แล้ว แต่ต่อมามีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดได้ร้องเรียนต่อทางราชการและเรื่องอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ นอกจากนี้ทางราชการบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดคืน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่ได้รับไป อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่น แล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำที่ดินดังกล่าวไปให้สหกรณ์ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นเช่าทำประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดคัดค้านจนทางราชการตกลงว่าจะคืนที่ดินให้เมื่อครบสัญญาเช่า แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าไม้ถาวรไม่ใช่เขตเดินสำรวจ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกสัญญาเช่าหรือห้ามมิให้ต่ออายุสัญญาเช่าที่พิพาทเพื่อส่งมอบคืนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การกล่าวอ้างว่าบรรพบุรุษครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่เป็นความจริง ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดขาดการครอบครองเกินหนึ่งปีหลังจากถูกเพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนที่พิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะมิได้แจ้งการครอบครองภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่เป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒๗ ตรี ไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร้องสอดตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายชัยสิทธิ์ แก้วสำราญ ที่ ๑ นายพยุงศักดิ์ ศิริโนนม่วง ที่ ๒ นางถนอมจิตร อนุศรี ที่ ๓ นายคำกลิ้ง บุษบงค์ ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี นายเสถียรพงศ์ ถมคำ ผู้ร้องสอด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share