แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้เช่าซื้อรถยนต์ผิดสัญญาและสัญญาเลิกกันแล้วผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ ริบค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อชำระไว้แล้ว และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรก หากผู้เช่าซื้อไม่ส่งมอบรถผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ ซึ่งได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองอยู่ตามนัยแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรค 3 สัญญาเช่าซื้อข้อ 7 ระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ งวดหนึ่งงวดใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใด ๆ แก่เจ้าของ ตามสัญญาประการหนึ่งประการใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประการใดประการหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระและหรือค่าเสียหาย นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เงินค่าขาดประโยชน์ จากการใช้รถดังกล่าวไม่อยู่ในความหมายของเงินใด ๆ หรือค่าเสียหาย ตาม ข้อสัญญาดังกล่าวผู้ให้เช่าซื้อคงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อใช้ดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไป 1 คัน ค่าเช่าซื้อ 88,340 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 5,000 บาท ที่เหลือจะชำระให้เป็นเวลา 30 งวดงวดละเดือน จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 22 เป็นต้นมาเกิน 2 งวดติดต่อกัน ตามสัญญาถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคืนให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหาย31,500 บาท หากส่งมอบคืนไม่ได้จำเลยที่ 1 ต้องชำระราคารถ 25,000 บาทแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 31,500 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งรถคืนหรือใช้ราคาเดือนละ 1,500บาท กับให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 31,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 25,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสองคืนรถกระบะเล็กที่เช่าซื้อให้โจทก์ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเท่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจากจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย(ที่ถูกค่าใช้ทรัพย์) ที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาและสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์ไว้แล้ว และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรก ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 8 จำเลยที่ 1 ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์โดยพลัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 เอง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถที่เช่าซื้อให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ ได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองอยู่ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3
ที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยในจำนวนค่าเสียหาย (ค่าใช้รถ) อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 7 นั้น เห็นว่าสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระ ค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดีหรือผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใด ๆ แก่เจ้าของตามสัญญาประการหนึ่งประการใดก็ดีหรือผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประการใดประการหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระและหรือค่าเสียหายนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถดังกล่าวไม่อยู่ในความหมายของเงินใด ๆ หรือค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 7 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าคืน (รถที่เช่าซื้อ) ไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน25,000 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้รถ 22,050 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จกับค่าใช้รถเดือนละ 1,050 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าคืนรถหรือจนกว่าชำระเงิน 25,000 บาทแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์