คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10862/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงผู้ประสานงานดำเนินการขออนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดส่งไปให้หน่วยงานของโจทก์ที่ 1 ใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจับกุมเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการเรียกเก็บเงินคืนแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์ที่ 1 หาได้ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 จะฟ้องให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าใช้จ่ายคืนได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 เป็นหน่วยงานที่บังคับใช้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ในการดำเนินการเรียกเก็บเงินกับเจ้าของเรือที่ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือเพื่อทำการประมงจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง มีหนังสือลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 เสนอให้โจทก์ที่ 2 รับผิดชอบในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจ่ายไปในการช่วยเหลือลูกเรือประมงที่เกี่ยวข้องเพื่อชดใช้คืนทางราชการ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการติดตามทวงถามหนี้สิน เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง
ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยชำระคืนเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำไปใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อปรากฏว่ารองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโจทก์ที่ 2 มีหนังสือทวงถามฉบับแรกลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ให้จำเลยชำระเงิน 479,871.40 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ย่อมถือได้ว่า โจทก์ที่ 2 ย่อมอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวได้ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป และแม้จะได้ความต่อไปว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำในต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 แต่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เพียงว่า หากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย ต้องระวางโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 ทวิ เท่านั้น การที่คณะกรรมการมีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจำนวน 479,871.40 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่โจทก์ที่ 2 เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2536 แล้ว มติคณะกรรมการหามีผลต่อการเริ่มนับอายุความทางแพ่งไม่ เพราะมิเช่นนั้นความล่าช้าในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 28 ทวิ จะเป็นเหตุให้อายุความสามารถขยายออกไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 แต่โจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 จึงพ้นกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 479,871.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 178,652.11 บาท กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 479,871.40 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 479,871.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2548) ต้องไม่เกิน 178,652.11 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เรืออดิศักดิ์นำโชค 6 และเรืออดิศักดิ์นำโชค 7 เข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นเหตุให้ลูกเรือ 18 คน ถูกจับกุมและมีการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อส่งตัวลูกเรือทั้งหมดกลับประเทศไทย โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่า ลูกเรือจะต้องเสียค่าปรับ โจทก์ที่ 1 จึงขออนุมัติใช้เงินไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือดังกล่าว เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติค่าใช้จ่ายจากเงินงบกลางเพื่อให้โจทก์ที่ 1 นำลูกเรือกลับประเทศไทย โดยให้โจทก์ที่ 2 รับผิดชอบในการดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายคืน โจทก์ที่ 1 จึงได้จัดส่งเงินให้สถานกงสุลใหญ่ดำเนินการต่อไป หลังจากนั้นทางสถานกงสุลใหญ่ได้ส่งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้โจทก์ที่ 2 ทราบ โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยซึ่งทราบจากการสอบปากคำลูกเรือว่า เป็นเจ้าของเรือทั้งสองลำให้นำเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 475,871.40 บาท มาชำระ แต่จำเลยเพิกเฉย คณะกรรมการกำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มีมติให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 แจ้งมติคณะกรรมการให้จำเลยทราบโดยให้ชำระเงินภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือดังกล่าว เมื่อพ้นกำหนดจำเลยมาติดต่อกับสำนักงานประมงจังหวัดปัตตานีและทำบันทึกไว้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ได้ความจากหนังสือฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2535 ว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ทราบจากกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ว่า ทางเจ้าหน้าที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะปล่อยลูกเรือทั้งหมด โดยให้เสียค่าปรับ จึงได้ขอให้โอนเงินมาให้โดยด่วน โจทก์ที่ 1 จึงดำเนินการเสนอขออนุมัติการใช้เงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อค่าปรับและค่าใช้จ่ายใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงกลับประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2535 งบกลางของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง แล้ว โจทก์ที่ 1 จึงจัดส่งเงินทั้งหมดให้แก่กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์เพื่อดำเนินการต่อไป โดยกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ได้จัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบภายหลัง ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงผู้ประสานงานดำเนินการขออนุมัติเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดส่งไปให้หน่วยงานของโจทก์ที่ 1 ใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจับกุมเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการเรียกเก็บเงินคืนแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงหาได้ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าใช้จ่ายคืนได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย สำหรับโจทก์ที่ 2 นั้นเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ในการดำเนินการเรียกเก็บเงินกับเจ้าของเรือที่ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือเพื่อทำการประมงจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง มีหนังสือเสนอให้โจทก์ที่ 2 รับผิดชอบในการดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลได้จ่ายไปในการช่วยเหลือลูกเรือประมงที่เกี่ยวข้องเพื่อชดใช้คืนทางราชการ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการติดตามทวงถามหนี้สินดังกล่าว เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยชำระคืนเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำไปใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 เมื่อปรากฏว่ารองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโจทก์ที่ 2 มีหนังสือทวงถามฉบับแรกลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ให้จำเลยชำระเงิน 479,871.40 บาท คืนแก่โจทก์ที่ 2 ย่อมถือได้ว่า โจทก์ที่ 2 ย่อมอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวได้ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป และแม้จะได้ความต่อมาว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติประมง พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เพียงว่า หากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย ต้องระวางโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 ทวิ เท่านั้น การที่คณะกรรมการมีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จำนวน 479,871.40 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินเดียวกับที่โจทก์ที่ 2 เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2536 แล้ว มติคณะกรรมการดังกล่าวจึงหามีผลต่อการเริ่มนับอายุความทางแพ่งไม่ เพราะมิเช่นนั้นความล่าช้าในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 28 ทวิ จะเป็นเหตุให้อายุความสามารถขยายออกไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาได้ แม้จะได้ความต่อไปว่า หลังจากโจทก์ที่ 2 แจ้งมติคณะกรรมการดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยได้ไปติดต่อกับสำนักงานประมงจังหวัดปัตตานีและทำบันทึกไว้ก็ตาม แต่บันทึกดังกล่าวคงระบุมีใจความเพียงว่า จำเลยได้รับหนังสือกรมประมงให้นำเงินจำนวน 479,871.40 บาท ไปชดใช้คืนภายใน 30 วัน แต่จำเลยไม่มีรายได้ ไม่สามารถนำส่งเงินจำนวนดังกล่าวคืนได้เท่านั้น บันทึกดังกล่าวจึงยังไม่ชัดเจนว่า เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวได้ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น แต่โจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 จึงพ้นกำหนด 10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยประการอื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share