คำวินิจฉัยที่ 18/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด โดยซื้อมาจากการ ขายทอดตลาดของกรมสรรพากร ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ในขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของกรมสรรพากรโดยเจ้าของที่ดินเดิมมิได้ยินยอม ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัยให้เช่าได้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนถนนที่รุกล้ำพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินคืนแก่ผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งที่พิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มานานแล้ว ไม่จำต้องรื้อถอนถนนและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดตลิ่งชัน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ นางจิตวรี ขำเดช ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตบางพลัด ที่ ๑ กรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๘๖/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๘๘ ตำบลบางพลัด อำเภอบางพลัด กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ งาน ๖๔ ตารางวา โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีได้ขอรังวัดสอบเขตที่ดินเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ผลปรากฏว่า เนื้อที่ที่ดินได้ขาดหายไปจากโฉนดที่ดินจำนวน ๑๘ ตารางวา เนื่องจากระหว่างที่ที่ดินอยู่ในการครอบครองดูแลของกรมสรรพากร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนวเขตด้านทิศตะวันออกโดยเจ้าของที่ดินเดิมมิได้ยินยอม ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมาเพื่อจะก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัยให้เช่า (อพาร์ตเมนต์) ที่ดินส่วนที่ขาดหายไปจึงมีผลกระทบต่อการออกแบบโครงสร้างอาคารเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ๐๐๕/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายเศษวัสดุก่อสร้างออกไปจากเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายเศษวัสดุก่อสร้างออกไปจากเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีและส่งมอบที่ดินคืนแก่ผู้ฟ้องคดี หากส่งมอบล่าช้าให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ ๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จ หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชำระให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือที่ ๓ ชำระแทน และให้ชดใช้ค่าเสียหายถึงวันฟ้อง ๑๖,๔๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำให้การว่า ที่พิพาทนั้นเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งหักให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มานานแล้ว ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่จำต้องรื้อถอนถนนคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโดยพนักงานอัยการยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์เท่ากับว่า เป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี หรือเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างรัฐกับเอกชนมิใช่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่วางแนวบรรทัดฐานมาเป็นจำนวนหลายคดีแล้วว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๐/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างถนนคอนกรีตและต่อมาได้ทำการปรับปรุงยกระดับผิวถนน บ่อพักท่อระบายน้ำ และรางวี จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๘๘ เลขที่ดิน ๖๗ หน้าสำรวจ ๑๙๔๔ ตำบลบางพลัด อำเภอบางพลัด กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ งาน ๖๔ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีได้รังวัดตรวจสอบแนวเขตแล้วปรากฏว่า เนื้อที่ที่ดินได้ขาดหายไปจากโฉนดที่ดินจำนวน ๑๘ ตารางวา เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบมาตรา ๖๙ (๑) และมาตรา ๘๙ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตและปรับปรุงยกระดับผิวถนน บ่อพักท่อระบายน้ำ และรางวี ซึ่งเป็นการกระทำตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการดูแลรักษาที่สาธารณะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ดำเนินการรื้อถอนถนนคอนกรีตออกจากที่ดินส่วนที่รุกล้ำและให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แม้คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้และศาลปกครองก็ได้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองหลายกรณี เช่น การวินิจฉัยเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่คู่สัญญาต้องรับผิดในการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองเท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำได้และไม่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของคดีปกครอง ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นเพียงหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะตามมาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๘๙ (๑๐) และมาตรา ๖๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นผู้ทรงสิทธิหรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท ข้อพิพาทในทำนองนี้จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัย มาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดตลิ่งชันพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนวเขตด้านทิศตะวันออก ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายเศษวัสดุก่อสร้างออกไปจากเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย จึงฟ้องคดีขอให้บังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินคืนแก่ผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทนั้นเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มานานแล้ว ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่จำต้องรื้อถอนถนนคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี คำให้การต่อสู้คดีของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงเป็นการต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ดังนั้น คดีจึงมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะต้องรื้อถอนถนนคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๖๘๘ ตำบลบางพลัด อำเภอบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากร ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าวตลอดแนวเขตด้านทิศตะวันออก ในขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของกรมสรรพากรโดยเจ้าของที่ดินเดิมมิได้ยินยอม ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัยให้เช่าได้ เนื่องจากที่ดินส่วนที่ขาดหายไปกระทบต่อการออกแบบโครงสร้างอาคาร จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำพร้อมทั้งส่งมอบที่ดินคืนแก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทนั้นเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มานานแล้ว ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่จำต้องรื้อถอนถนนคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางจิตวรี ขำเดช ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการเขตบางพลัด ที่ ๑ กรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share