คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 622/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า ‘เบี้ยปรับ’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา383 หมายถึงค่าสินไหมทดแทนที่คู่สัญญาได้ตกลงกำหนดกันไว้ล่วงหน้าการที่โจทก์จำเลยได้ทำความตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาเช่าซื้อถึงวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ก็ย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าซื้อและยึดรถที่จำเลยเช่าซื้อไปขายได้เงินรวม 93,840 บาท นับเป็นการชดใช้ที่พอสมควรแล้ว จะบังคับเรียกค่าเช่าซื้อจากจำเลยจนครบจำนวนหาได้ไม่ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอีก 22,000 บาท โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่าหนังสือสัญญาเช่าซื้อรายพิพาทข้อ 7 ไม่ได้ข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับ จำเลยต้องผูกพันใช้ให้โจทก์ตามข้อตกลงในนิติกรรมนั้น

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว หนังสือสัญญาเช่าซื้อรายพิพาทข้อ 7 มีข้อความดังนี้

“7. ในกรณีสัญญานี้ต้องสิ้นสุดลงก็ดี หรือมีการละเมิดข้อ 5 หรือข้อ 6แห่งสัญญานี้ประการใดประการหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อจำต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมด และเงินจำนวนใด ๆ ที่ผู้เช่าซื้อเป็นหนี้หรือค้างชำระอยู่ หรือจะต้องชำระให้แก่เจ้าของตามเงื่อนไขแห่งสัญญานี้ให้แก่เจ้าของจนครบถ้วนในทันที ส่วนเงินใด ๆ ที่ได้ชำระให้แก่เจ้าของไปแล้วก่อนหน้านั้น ตลอดจนการดัดแปลงต่อเติมที่ได้กระทำไปภายหลังจากวันลงนามในสัญญานี้แล้วต้องริบเป็นของเจ้าของทั้งสิ้น ผู้เช่าซื้อจะรื้อถอน ถอนออกหรือยึดเอาชิ้นส่วนที่ตกแต่งต่อเติมไม่ว่าชิ้นใดส่วนใดไว้ไม่ได้โดยเด็ดขาดและเจ้าของมีสิทธิครอบครองรถและอุปกรณ์เหล่านี้ได้ เงินค่างวดที่ค้างชำระถึงแม้เจ้าของจะกลับเข้าครอบครองรถแล้วก็ตาม หากเจ้าของจำหน่ายรถดังกล่าวออกไปและได้รับเงินไม่ครบถ้วนตามราคาที่ยังค้างชำระในสัญญาเท่าใด เจ้าของมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชดใช้จนครบจำนวนที่ขาดไปได้ด้วย”

ตามความในสัญญาข้อ 7 ดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่า คู่สัญญาได้ตกลงกำหนดวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญากันไว้ล่วงหน้าโดยกำหนดวิธีการให้ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับชดใช้รวม 4 ประการคือ

1. ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ได้รับชำระไว้แล้วทั้งสิ้น

2. ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิยึดรถที่เช่าซื้อคืน หรือครอบครองรถที่เช่าซื้อได้

3. ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมด

4. หากผู้ให้เช่าซื้อจำหน่ายรถที่ยึดคืนมา ได้เงินไม่พอชำระค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระอยู่เพียงใด ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้จำนวนที่ขาดนั้นแก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบ

ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “เบี้ยปรับ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ก็คือ ค่าสินไหมทดแทนที่คู่สัญญาได้ตกลงกำหนดกันไว้ล่วงหน้าฉะนั้น การที่โจทก์จำเลยได้ทำความตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาเช่าซื้อข้อ 7ถึงวิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวม 4 ประการดังกล่าวแล้ว จึงเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับนั่นเอง เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้”

พิพากษายืน

Share