แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำอันเป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คำว่า ดัดแปลง หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนคำว่า ทำซ้ำ หมายความรวมถึงการคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังนั้น การกระทำที่เป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงเป็นการคัดลอกงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเล่มจริงกับเล่มที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ขึ้นเกิดจากการพิมพ์ที่ไม่เรียบร้อย พิมพ์ผิดพลาด พิมพ์ซ้ำ หรือจัดหน้ากระดาษผิด มิใช่เป็นการคัดลอกโดยเปลี่ยนรูปใหม่ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหนังสือของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 31, 64, 65, 69, 70, 75, 76 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 31 (1), 69 วรรคสอง, 70 วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 100,000 บาท ฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วนำออกขาย เสนอขาย เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 150,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบหนังสือ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดัดแปลงหนังสืออันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) นั้นต้องเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 15 (5) คำว่า ดัดแปลง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ส่วนคำว่า ทำซ้ำ หมายความรวมถึงการคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ดังนั้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น จึงเป็นการคัดลอกงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 พิมพ์หนังสือข้อแนะนำ นักกฎหมาย และตัวอย่างคำฟ้อง คำร้อง คำแถลงการณ์ อุทธรณ์ ฎีกา โดยสุริยา ทนายความภาคปฏิบัติในศาล จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 3,000 เล่ม แต่โจทก์มิได้มีพยานหลักฐานมาสืบว่า หนังสือที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ตามฟ้องเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 พิมพ์เกินกว่าจำนวนที่โจทก์อนุญาตหรือไม่ จึงต้องรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่า เป็นหนังสือที่พิมพ์ตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ สำหรับส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์หนังสือผิดไปจากต้นฉบับ 60 จุด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้น โจทก์มีนางสาววนิดาผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความประกอบ ซึ่งเป็นรายละเอียดข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเล่มจริงกับเล่มที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ขึ้น ซึ่งปรากฏว่าข้อแตกต่าง ดังกล่าวได้แก่ การที่หนังสือที่จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์ขึ้นมีรอยเลอะหมึก 6 หน้า ส่วนหนังสือเล่มจริงไม่มีหรือพิมพ์เป็นรูปวงกลมหรือตัวอย่างการเขียนคำบอกกล่าวเอกสารท้ายฟ้อง ตัวอย่างคำฟ้อง คำขอท้ายฟ้อง ส่วนเล่มจริงเป็นบทความหรือรูปวงกลมหรือเป็นตัวอย่างคำฟ้อง คำขอท้ายฟ้องที่สลับกัน หรือเป็นการพิมพ์ซ้ำหน้าถึงประมาณ 38 หน้า ข้อแตกต่างดังกล่าวมีลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากการพิมพ์ที่ไม่เรียบร้อย พิมพ์ผิดพลาด พิมพ์ซ้ำ หรือจัดหน้ากระดาษผิด มิใช่เป็นการคัดลอกโดยเปลี่ยนรูปใหม่ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะทำให้อ่านไม่เข้าใจและไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของหนังสือของโจทก์แต่อย่างใด น่าเชื่อว่าการผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากแม่พิมพ์ชำรุดและผิดพลาดในขั้นตอนการทำเพลทใหม่ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 15 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดดังกล่าวมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และลงโทษจำเลยที่ 1 หนักขึ้น กับอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง