คำวินิจฉัยที่ 13/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเจ้าของที่ดินมือเปล่าฟ้องกรมที่ดินว่าได้รับความเดือดร้อนจากการถูกช่างรังวัดของจำเลยรังวัดที่ดินดังกล่าวรวมเข้าไปกับที่สาธารณประโยชน์ โดยขอให้จำเลยมีคำสั่งห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทำละเมิดหรือเข้ารบกวนการครอบครองที่ดิน ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ การกระทำของช่างรังวัดชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินที่โจทก์อ้างอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินพิพาทและมีการออก น.ส. ๓ ก. แล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเลย
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเลยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายนิเทศก์ อรรคสูรย์ โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๐๓/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ ๕๘๗/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าจำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ตั้งอยู่ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากบิดาโจทก์ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ และโจทก์ได้ถือครองทำประโยชน์ปลูกพืชไร่และพืชสวนเป็นของตนเองต่อเนื่องในที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบัน เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีหนังสือถึงจำเลยผ่านสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย ขอให้สั่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการรังวัดตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ตาม น.ส.ล. เลขที่ ๔๔๐๔ (แปลงโคกซำอีต้อน) ตั้งอยู่ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาด่านซ้าย มอบหมายให้นายสมชาย ไพศาลวิทย์ ช่างรังวัด ข้าราชการสังกัดของจำเลยไปทำการตรวจสอบ นายไพศาลได้ปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของอำเภอด่านซ้าย โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำการรังวัดที่ดินของโจทก์เข้าไปรวมกับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้จำเลยมีคำสั่งห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลย กระทำละเมิดหรือเข้ารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันประเภทที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์โคกซำอีต้อน บิดาโจทก์ไม่เคยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณที่พิพาทแต่อย่างใด แต่เป็นการบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากบิดานั้น อยู่ทางทิศใต้ของที่ดินพิพาทที่มีการสอบสวนสิทธิพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยโจทก์เป็นผู้นำสำรวจและได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๒ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๘๐๐ ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๕๓ ตารางวา ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การครอบครองที่ดินของบิดาโจทก์ แม้จะครอบครองนานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และจะโอนให้แก่กันมิได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท และไม่มีอำนาจฟ้อง การกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำโดยสุจริต ตามอำนาจหน้าที่และที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ และได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบของกรมที่ดิน จึงไม่เป็นการละเมิดหรือรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือกระทำละเมิดของนายสมชาย เจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลจังหวัดเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐว่า รังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลย กระทำละเมิดหรือเข้ารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของโจทก์ ประกอบกับจำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ดำเนินการรังวัดเพื่อตรวจสอบที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๔๔๐๔ (แปลงโคกซำอีต้อน) ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้มีการดำเนินการรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินมือเปล่าที่โจทก์ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ และได้มีการทำรูปแผนที่ที่ดินฉบับใหม่โดยรวมเอาที่ดินของโจทก์และของเอกชนรายอื่นเข้าไว้ด้วย อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการรังวัดเพื่อตรวจสอบและรับรองแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) พิจารณาเห็นว่าการดำเนินการรังวัดเพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามกรณีพิพาท เป็นกรณีที่อำเภอด่านซ้ายซึ่งเป็นทบวงการเมืองผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๔๔๐๔ (แปลงโคกซำอีต้อน) ได้ยื่นคำขอเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินท้องที่ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดิน ตามข้อ ๗ ของระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการรับคำขอรังวัด การนัดรังวัด และการเรียกค่าใช้จ่ายในการรังวัดเฉพาะราย พ.ศ. ๒๕๔๗ เมื่อต่อมาเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยได้ดำเนินการตามคำขอดังกล่าวแล้วเห็นว่าที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ฉบับดังกล่าว มีรูปแผนที่คลาดเคลื่อนจึงได้จัดทำแผนที่ฉบับใหม่อันเป็นมูลเหตุของข้อพิพาทในคดีนี้ ขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลย ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ปรากฏว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงใดที่ออกไปโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นต้นว่า ออกไปโดยผิดแปลงทับที่บุคคลอื่น หรือแนวเขตผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจดำเนินการรังวัดตรวจสอบและดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขรูปแผนที่ในกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยตามกรณีพิพาทจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง ซึ่งหากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกรณีดังกล่าว กระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองดังกล่าวของจำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นปัญหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การรังวัดตรวจสอบ และการจัดทำแผนที่ที่สาธารณประโยชน์ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๔๔๐๔ (แปลงโคกซำอีต้อน) ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าจำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ตั้งอยู่ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้รับการยกให้โดยเสน่หามาจากบิดาซึ่งครอบครองทำประโยชน์มาก่อนตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ แต่ถูกนายสมชายช่างรังวัด ข้าราชการสังกัดของจำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปทำการตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ตาม น.ส.ล. เลขที่ ๔๔๐๔ (แปลงโคกซำอีต้อน) จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำการรังวัดที่ดินของโจทก์เข้าไปรวมกับที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้จำเลยมีคำสั่งห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทำละเมิดหรือเข้ารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันประเภทที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์โคกซำอีต้อน บิดาโจทก์ไม่เคยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณที่พิพาท แต่เป็นการบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ การครอบครองที่ดินของบิดาโจทก์ แม้จะครอบครองนานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และจะโอนให้แก่กันมิได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท การกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำโดยสุจริต ตามอำนาจหน้าที่และที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ และได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบของกรมที่ดิน จึงไม่เป็นการละเมิดหรือรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากบิดานั้น อยู่ทางทิศใต้ของที่ดินพิพาทที่มีการสอบสวนสิทธิพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายนิเทศก์ อรรคสูรย์ โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share