คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก แสดงว่าจำเลยมิได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า “พราก” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพา และแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางจง นายสังเวย และ จ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยมีอาชีพรับราชการครู รู้จักโจทก์ร่วมที่ 3 ตั้งแต่โจทก์ร่วมที่ 3 ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในฐานะครูกับศิษย์ ทั้งยังได้รับความเคารพนับถือจากครอบครัวโจทก์ร่วมทั้งสามและชาวบ้านใกล้เคียง ประกอบกับจำเลยมีภริยาและบุตรแล้ว น่าจะประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม แต่กลับฉกฉวยโอกาสจากความไว้เนื้อเชื่อใจและความไร้เดียงสาของโจทก์ร่วมที่ 3 เพื่อสนองตัณหาของตน จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จ. โจทก์ร่วมที่ 3 เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 เป็นบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 3 อาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จำเลยรับราชการครูที่โรงเรียนบ้านโว้งบ่อ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 3 เคยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนดังกล่าว ก่อนจำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีนี้ จำเลยกับโจทก์ร่วมที่ 3 เคยมีเพศสัมพันธ์กันสำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปแล้ว คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โจทก์มีโจทก์ร่วมที่ 3 เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมที่ 3 นัดให้ไปพบที่บริเวณถนนสายบ้านมนคีรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย บอกว่ามีธุระจะคุยด้วย โจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ออกไปพบจำเลย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ที่บริเวณข้างถนนดังกล่าว ต่อมาประมาณ 3 สัปดาห์ จำเลยโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมที่ 3 นัดให้ไปพบที่ถนนสายบ้านมนคีรีที่เดิม โจทก์ร่วมที่ 3 ออกไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณเดิม หลังจากนั้นวันที่ 6 เมษายน 2550 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2550 จำเลยโทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมที่ 3 ให้ไปพบที่บริเวณค่ายลูกเสือ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ที่บริเวณดังกล่าว วันที่ 9 และ 16 มิถุนายน 2550 จำเลยนัดโจทก์ร่วมที่ 3 ให้ไปพบแล้วข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ที่วัดเจดีย์สูง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 3 จะเห็นว่าจำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก สอดคล้องกับที่โจทก์ร่วมที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนว่า หลังจากจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 ในครั้งแรก จำเลยพูดว่าไม่ให้นำเรื่องไปบอกใคร แล้วโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ขับรถจักรยานยนต์กลับบ้าน แสดงว่าจำเลยมิได้มีการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 แต่อย่างใด การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share