แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือจ้างทำของต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในการทำงานของนายจ้างลูกจ้างจึงจะทราบเจตนาในการทำสัญญาว่าคู่สัญญาเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ
แม้สัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีรายละเอียดมุ่งถึงผลสำเร็จของการหาโฆษณาให้แก่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองของจำเลยให้ได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญาว่าโจทก์กับพวกต้องหาโฆษณาจากบุคคลภายนอกมาตีพิมพ์โดยคิดค่าโฆษณามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท และ 32 ล้านบาท ภายในกำหนด 10 เดือน และ 12 เดือน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาได้ตามเป้าประสงค์ จำเลยก็ผ่อนผันให้แก่โจทก์กับพวก ทั้งยังจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้าให้ตามสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยยังทำสัญญาจ้างโจทก์กับพวกต่ออีก แสดงว่าเจตนาของจำเลยในการทำสัญญาจ้างโจทก์หาโฆษณาไม่ได้มุ่งถึงความสำเร็จของการงานที่ว่าจ้างเป็นสำคัญ จำเลยกำหนดให้โจทก์มีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและมอบบัตรประจำตัวพนักงานแก่โจทก์ พวกของโจทก์มีตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาทั้งสิ้น โจทก์มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างที่กระทำผิดแทนจำเลยได้ แสดงถึงอำนาจบังคับบัญชาที่จำเลยมีต่อโจทก์กับพวก นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการจ้างแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 420,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาจำเลยแถลงไม่ประสงค์จะให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลแรงงานหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 420,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์บ้านเมืองซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันออกจำหน่าย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์กับพวกรวม 8 คน และจำเลยทำสัญญาจ้างหาโฆษณาโดยโจทก์กับพวกจะหาโฆษณาจากบุคคลภายนอกมาลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง คิดเป็นเงินค่าโฆษณาไม่ต่ำกว่า 25,000,000 บาท ภายในกำหนด 10 เดือน นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 หากโจทก์กับพวกหาโฆษณาภายในกำหนดเวลาได้ไม่ถึงยอดเงินดังกล่าวแล้วยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างหาโฆษณานี้ได้ทันที จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้าให้โจทก์กับพวกโดยโจทก์รับค่าจ้างเดือนละ 70,000 บาท จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ไว้บางส่วนเป็นเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย และหักไว้บางส่วนเป็นเงินสะสมของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ประกันตนและจำเลยจ่ายเงินสมทบให้สำนักงานประกันสังคม เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างหาโฆษณาแล้ว ปรากฏว่าโจทก์กับพวกหาโฆษณาให้จำเลยคิดเป็นเงินต่ำกว่า 25,000,000 บาท แต่จำเลยกับโจทก์เจรจากันและจำเลยตกลงให้โจทก์กับพวกหาโฆษณาต่ออีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 โดยโจทก์กับพวกต้องหาโฆษณามาลงหนังสือพิมพ์บ้านเมืองของจำเลยคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 36,000,000 บาท ตามสัญญาจ้างหาโฆษณาฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2546 ส่วนค่าตอบแทนในการหาโฆษณานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขเดิมโดยโจทก์ทำบันทึกขอเสนอรายละเอียดอัตราเงินเดือนของโจทก์กับพวกต่อกรรมการผู้จัดการจำเลยเพื่อทราบ การพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในการทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีต่อกันด้วย มิใช่จะพิจารณาเฉพาะข้อความในสัญญาเพียงอย่างเดียว โดยแม้โจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาให้จำเลยได้เป็นเงินถึง 25,000,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 10 เดือน หรือเป็นเงินถึง 36,000,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 12 เดือน ก็ตาม แต่โจทก์กับพวกยังได้รับค่านายหน้าจากจำเลย ทั้งระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนตลอดมา จึงไม่ใช่เป็นการทำงานในลักษณะจ้างทำของ ส่วนข้อความในสัญญาจ้างหาโฆษณาที่ระบุว่าหากผู้รับจ้างจัดหาโฆษณาได้เป็นเงินไม่ถึง 25,000,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 10 เดือน หรือผู้รับจ้างจัดหาโฆษณาได้เป็นเงินไม่ถึง 36,000,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 12 เดือน ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อให้สิทธิแก่จำเลยผู้ว่าจ้างในการจะบอกเลิกสัญญาหากโจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาได้เป็นเงินตามที่กำหนดไว้เท่านั้น สัญญาจ้างหาโฆษณาจึงมิใช่สัญญาจ้างทำของ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยการที่จำเลยเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์กับพวกมิเคยทำงานตามที่ได้รับจ้างสำเร็จลุล่วงตามข้อตกลงไว้ในหนังสือเลิกจ้างพนักงาน เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดในกรณีหนึ่งกรณีใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยจำนวน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้โจทก์
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่าสัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ถึง 2.4 ว่า สัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของนั้น เห็นว่า ในการพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของนั้นหาจำต้องพิจารณาเพียงแต่ข้อความในสัญญาไม่ หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริง ในการทำงานของนายจ้างและลูกจ้างด้วย จึงจะทราบถึงเจตนาในการทำสัญญาของคู่สัญญาว่าเจตนาทำสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างทำของ แม้สัญญาจ้างหาโฆษณาระหว่างโจทก์และจำเลยจะมีรายละเอียดมุ่งถึงผลสำเร็จของงานอันได้แก่การหาโฆษณาให้แก่หนังสือพิมพ์ของจำเลยให้ได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญา แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโจทก์กับพวกไม่สามารถหาโฆษณาให้จำเลยได้ตามเป้าประสงค์ในสัญญา จำเลยก็ผ่อนผันให้แก่โจทก์กับพวก ทั้งยังจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้าให้ตามสัญญา และเมื่อระยะเวลาตามสัญญาจ้างหาโฆษณาครบกำหนดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังทำสัญญาจ้างโจทก์กับพวกอีก จึงแสดงถึงเจตนาของจำเลยในการจ้างโจทก์หาโฆษณาว่าแม้มีการกำหนดเป้าประสงค์ในการให้โจทก์กับพวกหาโฆษณามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าในสัญญาข้อ 3 แต่จำเลยมิได้มุ่งถึงผลสำเร็จของการงานที่ว่าจ้างนั้นเป็นสำคัญ ทั้งในการจ้างโจทก์กับพวกดังกล่าวจำเลยกำหนดให้โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา ส่วนพวกของโจทก์ก็มีตำแหน่งในฝ่ายโฆษณาทั้งสิ้น จำเลยมอบบัตรประจำตัวพนักงานแก่โจทก์ โจทก์จะต้องลงเวลาเข้าทำงาน และโจทก์มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างที่กระทำผิดแทนจำเลยได้ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงล้วนแสดงถึงอำนาจบังคับบัญชาที่จำเลยมีต่อโจทก์กับพวก นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นการจ้างแรงงานอย่างแจ้งชัด หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่ ส่วนการที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กับพวกไม่ต้องทดลองงานตามข้อบังคับของจำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยจ้างโจทก์กับพวกหาโฆษณาให้แก่จำเลยในจำนวนเงินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25,000,000 บาท และไม่ต่ำกว่า 36,000,000 บาท นั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นความเชี่ยวชาญของโจทก์กับพวกเป็นสำคัญ ทั้งสัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสัญญาจ้างแรงงานแบบมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามสัญญา ย่อมต้องแตกต่างจากการจ้างแรงงานแบบสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลาที่จำเลยใช้บังคับแก่ลูกจ้างของจำเลยทั่วไป ลำพังการที่จำเลยไม่ให้โจทก์กับพวกทดลองงานหาทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์กลายเป็นสัญญาจ้างทำของไปไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน