คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15154/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ที่ตนประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 และ 940 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จึงเป็นลูกหนี้ร่วม ดังนั้น หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,111,369.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 111,369.86 บาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวนหลายแปลงที่อำเภอบางกรวย (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ในราคา 45,500,000 บาท กับนายประชุมและนางช่อทิพย์ บิดามารดาของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากบิดามารดาให้เป็นตัวแทนฝ่ายผู้จะขายตกลงโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 180 วัน โดยในสัญญาระบุว่าเงินค่าที่ดินจำนวนหนึ่ง คือ 6,000,000 บาท จะนำไปชำระหนี้ให้นายกอปรลาภ ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมว่า ฝ่ายผู้ขายรับรองว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถขายที่ดินได้ในราคา 50,000,000 บาท ภายใน 180 วัน จำเลยที่ 2 ยินยอมคืนเงิน 6,000,000 บาท โดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 8399 เป็นประกัน หากขายที่ดินได้ในราคา 50,000,000 บาท ภายในกำหนด 180 วัน จำเลยที่ 1 จะคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 8399 โดยนายกอปรลาภลงลายมือชื่อเป็นพยาน จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ซึ่งมีเช็คพิพาทรวมอยู่ด้วย โดยเช็คทั้งสามฉบับสั่งจ่ายให้ผู้ถือ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 จำนวนเงินฉบับละ 2,000,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปชำระหนี้นายกอปรลาภตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้างต้น จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คแล้วมอบเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวให้แก่นายกอปรลาภ โดยนายกอปรลาภทราบว่าเงิน 6,000,000 บาท ที่สั่งจ่ายเช็คจะต้องคืนจำเลยที่ 1 หากขายที่ดินไม่ได้ 50,000,000 บาท จากนั้นนายกอปรลาภได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ ส่วนเช็คอีก 2 ฉบับ โอนให้แก่นายฉวิวัชร์และนางชนัฐ ต่อมาฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากที่ดินติดภาระจำนองไว้แก่ธนาคารและธนาคารฟ้องบังคับจำนอง ศาลพิพากษาให้ยึดที่ดินออกขายทอดตลาดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1773/2543 และที่ 472/2545 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค 3 ฉบับ ซึ่งรวมเช็คพิพาทด้วย โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายฉวิวัชร์และนางชนัฐได้นำเช็คที่ได้รับจากนายกอปรลาภไปเรียกเก็บเงินเช่นกัน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายฉวิวัชร์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินตามเช็ค ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.236/2547 ของศาลชั้นต้น นางชนัฐได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 ต่อมาได้ขอถอนคำร้องทุกข์ หลังจากนั้นนางชนัฐได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 กล่าวอ้างว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายแทนเช็คฉบับเดิมที่นางชนัฐถอนคำร้องทุกข์ไปนั้นเรียกเก็บเงินไม่ได้ ตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5654/2547 ของศาลแขวงพระโขนง
อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้ที่ตนประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 และ 940 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง จึงเป็นลูกหนี้ร่วม ดังนั้นหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share