คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7928/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 89/2 บัญญัติว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็น เมื่อพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามที่ระบุไว้ในหมายศาลที่ออกตามคำพิพากษานั้น หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกินสามสิบปีขึ้นไป หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้…” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก เป็นผู้ร้องขอ มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดจึงมิใช่บุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 289 (4) (6), 339 วรรคท้าย ให้จำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวม 3 ครั้ง คงเหลือโทษจำคุก 21 ปี 4 เดือน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 ให้ศาลมีอำนาจสั่งจำคุกโดยวิธีการอื่น จำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาแล้วเป็นเวลา 13 ปีเศษ ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุก จำเลยที่ 1 ประพฤติตนอยู่ในกฎระเบียบของเรือนจำ ไม่เคยกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับของเรือนจำ ขณะนี้บิดามารดาของจำเลยที่ 1 อยู่ในวัยชราและมีโรคประจำตัว เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสปรนนิบัติดูแลบิดามารดา จึงขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปคุมขังโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้อง ต่อมาในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีไม่จำต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 คือ พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ ประกอบกับเมื่อตรวจสำนวนแล้ว จำเลยที่ 1 ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เพิ่งได้รับโทษจำคุกมาเพียง 13 ปีเศษ กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปคุมขังโดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 บัญญัติว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็น เมื่อพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามที่ระบุไว้ในหมายศาลที่ออกตามคำพิพากษานั้น หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกินสามสิบปีขึ้นไป หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้ ….” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก เป็นผู้ร้องขอ มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด จึงไม่ใช่บุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรที่จะคุมขังจำเลยที่ 1 โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 98/2 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการพิจารณาของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงฐานความผิด ความประพฤติ สวัสดิภาพของผู้ซึ่งต้องจำคุก ตลอดจนสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคมด้วย …. ” เมื่อพิเคราะห์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกันฆ่านายมานิตย์ ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อตระเตรียมในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ แล้วร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตาย จากนั้นร่วมกันหั่นศพของผู้ตายเอาศีรษะ แขนสองข้างและขาทั้งสองขาใส่กระเป๋าและกล่องกระดาษเทปูนซีเมนต์ทับนำไปทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง เอาโคนขาทั้งสองข้างและตัวศพใส่กระสอบข้าวสารและกระเป๋านำไปทิ้งริมถนน แล้วเทน้ำมันราดจุดไปเผาศพของผู้ตาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง หากจำคุกจำเลยที่ 1 โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) แล้ว อาจกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยต่อสังคมโดยส่วนรวมได้ ทั้งเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าต้องดูแลปรนนิบัติทดแทนคุณบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้น ก็เป็นเพียงเหตุผลส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และยังปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2545 ว่า จำเลยที่ 1 มีนางสาวจารุนันท์ เป็นพี่สาว ซึ่งนางสาวจารุนันท์ย่อมสามารถดูแลปรนนิบัติบิดามารดาของจำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะนำวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share