คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการโรงงานทำมันเม็ดแข็ง เข้าร่วมโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลัง ขอรับเงินค่าชดเชยการขนส่งมันเม็ดตามโครงการจากโจทก์ โดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไข โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการรับเงิน แม้โจทก์จะคืนสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำสัญญาไปคืนแก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ยังมีภาระที่ต้องคืนเงินชดเชยค่าขนส่งให้แก่โจทก์ ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่คืนเงินแก่โจทก์ ภาระการค้ำประกันยังคงผูกพันจำเลยที่ 2 อยู่ไม่สิ้นสุดไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,283,239.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,008,529.71 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 จำนวน 8,000 บาท และจำเลยที่ 2 จำนวน 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินชดเชยค่าขนส่ง 4,283,239.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,008,529.71 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กรกฎาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ชำระแทน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 90,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าขนส่งจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการขอรับเงินชดเชยตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังปี 2540 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2540 และตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่อง กำหนดอัตราค่าขนส่งและวิธีการจ่ายเงินชดเชยค่าขนส่งตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลัง ปี 2540 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยค่าขนส่งต้อง (1) เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ (2) ขายมันสำปะหลังแก่ผู้ส่งออกซึ่งหมายถึงผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (3) ส่งสินค้าจากโกดังของผู้ผลิตสินค้าไปยังโกดังของผู้ส่งออกโดยมีหลักฐานการรับซื้อจากผู้ส่งออกมาแสดง เพื่อขอรับเงินชดเชยค่าขนส่ง นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางวิไลวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานวิเคราะห์มันสำปะหลังกองการค้าสินค้าข้อตกลง กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่ยกร่างนโยบายและระเบียบประกาศเกี่ยวกับการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังปี 2540 พยานโจทก์ว่า เดิมโจทก์ยังไม่ได้กำหนดเงินชดเชยค่าขนส่ง แต่โรงงานอัดมันเม็ดที่ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกจะถูกผู้ส่งออกกดราคารับซื้อ กระทรวงพาณิชย์จึงออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขอรับเงินชดเชยตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังปี 2540 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2540 ข้อ 10.2 และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องกำหนดอัตราค่าขนส่งและวิธีจ่ายเงินชดเชยค่าขนส่งตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังปี 2540 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 ข้อ 5 (2) ว่า จะจ่ายค่าขนส่งมันอัดเม็ดที่ผลิตจากมันเส้นที่รับซื้อจากโครงการไปยังโกดังของผู้ส่งออกที่อยู่ห่างไกลให้แก่โรงงานอัดมันเม็ดที่เข้าร่วมโครงการ ตามอัตราและวิธีการที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนดโดยกำหนดหลักฐานการขอรับเงินชดเชยไว้ ตามข้อ 11.3 (2) ว่า หลักฐานการขายแป้งมันสำปะหลัง หรือมันอัดเม็ด ได้แก่ใบเสร็จรับเงิน ใบรับสินค้า ดังนั้น ผู้ผลิตที่ส่งออกเองจะไม่ได้รับค่าชดเชยเพราะไม่มีหลักฐานการซื้อขายให้ผู้ส่งออกเนื่องจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกดังกล่าวจะไม่ถูกกดราคา เพราะเป็นผู้ส่งออกเอง และยังได้ราคาเต็มตามราคาส่งออกด้วย ต่างกับผู้ผลิตที่มิได้เป็นผู้ส่งออกซึ่งต้องนำไปขายให้แก่ผู้ส่งออกจะโดนกดราคา ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ขอรับเงินชดเชยค่าขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามประกาศของโจทก์และกระทรวงพาณิชย์โดยจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน ใบรับสินค้า และแบบหนังสือขอรับเงินชดเชยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอัดเม็ดหรือแป้งมันสำปะหลัง (แบบ รม.7) ซึ่งเป็นใบแสดงปริมาณการขายของผู้ประกอบกิจการโรงมันให้แก่ผู้ประกอบกิจการส่งออกมันอัดเม็ดเพื่อใช้คำนวณส่วนต่างของระยะทางการขนส่งกับปริมาณจำนวนมันอัดเม็ดที่จำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบกิจการส่งออกเพื่อนำมาคำนวณจ่ายเงินชดเชยค่าขนส่ง ส่วนเงื่อนไขการจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบข้อ 11.5 ซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชยล่วงหน้า โดยยังไม่ตรวจสอบหลักฐานหรือสต๊อกในแต่ละงวด จำเลยที่ 1 ขอรับเงินชดเชยค่าขนส่ง โดยไม่มีเอกสารแสดงว่าขายให้แก่ผู้ส่งออกรายอื่น อันผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการช่วยเหลือต้นทุนบางส่วนที่เกิดจากการขายมันอัดเม็ดให้ผู้ส่งออก เมื่อไม่มีการซื้อขายกันจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะขอรับเงินชดเชยค่าขนส่งได้ตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ และตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินดังกล่าวเสร็จสิ้นแก่โจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะคืนสัญญาค้ำประกันให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำสัญญาค้ำประกันไปคืนแก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ยังมีภาระที่ต้องคืนเงินชดเชยค่าขนส่งให้แก่โจทก์ ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่คืนเงินแก่โจทก์ ภาระการค้ำประกันก็ยังคงผูกพันจำเลยที่ 2 อยู่ไม่สิ้นสุดไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องชำระแทนจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาทแทนโจทก์

Share