คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นความผิดอื่นซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ แต่อย่างใด ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ได้ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาทั้งยังให้ข้อเท็จจริงว่าคืนเกิดเหตุจำเลยได้ร่วมแข่งรถด้วยและหลังการแข่งขันมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 134, 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน งงล สงขลา 563 และพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ ฉบับที่ 53014121 ของจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรคหนึ่ง, 160 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 40 วัน และปรับ 5,000 บาท อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 144 ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 15 ชั่วโมง ให้จำเลยเข้าโครงการศูนย์การเรียนรู้คุณธรรมและจริยธรรม ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งมึนเมาทุกชนิด ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาลและห้ามเล่นการพนัน ให้จำเลยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหรือประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนด 25 วัน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 45 ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน งงล สงขลา 563 ของกลาง และพักใช้ใบอนุญาตขับรถ ฉบับที่ 53014121 ของจำเลย มีกำหนด 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าพนักงานกระทำการไปตามหน้าที่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้น่าระแวงสงสัยว่าจะแกล้งกล่าวหาและเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ น่าเชื่อว่าได้เบิกความไปตามความจริง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า จำเลยไม่เคยรู้จักเส้นทางในอำเภอเมืองสงขลา ขณะที่จำเลยขับรถกลับ เมื่อมาถึงสี่แยกพระพุทธพบด่านเจ้าพนักงานตำรวจ ขณะขับรถจักรยานยนต์มาถึงมีเหตุการณ์ชุลมุนเกิดขึ้นแล้ว จำเลยตกใจเพราะมีรถของเจ้าพนักงานตำรวจไล่ติดตาม จำเลยขับรถหลบหนีนั้น ขัดต่อเรื่องปกติวิสัยของบุคคลทั่วไป เพราะหากจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องขับรถจักรยานยนต์หลบหนี ควรจะจอดรถจักรยานยนต์ข้างทาง เพราะการกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อตัวจำเลย ส่วนกรณีที่ดาบตำรวจเอกพลและพันตำรวจโทอธิชัยเบิกความถึงพฤติการณ์จับกุมในคืนเกิดเหตุไม่สอดคล้องกัน โดยดาบตำรวจเอกพลเบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายถามค้านว่าเห็นวัยรุ่นขับรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน 50 ถึง 60 คัน และมีกลุ่มวัยรุ่นขับรถจักรยานยนต์ลักษณะแข่งกัน 5 ถึง 6 คัน แต่พันตำรวจโทอธิชัยเบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายถามค้านว่าเห็นวัยรุ่นขับรถจักรยานยนต์ประลองความเร็วด้วยความคึกคะนอง มีรถจักรยานยนต์แข่งกันที่ถนนปละท่า 50 ถึง 80 คัน นั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียด ส่วนบันทึกการจับกุมซึ่งดาบตำรวจเอกพลเป็นผู้เขียนก็ระบุแล้วว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีกลุ่มวัยรุ่น 50 ถึง 80 คัน มารวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินและถนนปละท่าเพื่อแข่งรถกัน จึงมอบหมายให้ดาบตำรวจเอกพลเฝ้าซุ่มดู เวลาประมาณ 1 นาฬิกา กลุ่มวัยรุ่นได้รวมตัวกันเพื่อแข่งรถในทาง จึงได้ใช้กำลังปิดล้อมจับจำเลยได้พร้อมของกลาง ซึ่งบันทึกการจับกุมดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำให้การของดาบตำรวจเอกพลและพันตำรวจโทอธิชัย ส่วนที่ในบันทึกจับกุมไม่ได้ระบุถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยได้แข่งรถในทางด้วยนั้น ปรากฏว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมแข่งขันรถจักรยานยนต์มีจำนวนมาก 50 ถึง 80 คัน และขับรถด้วยความเร็วสูง ซึ่งตามปกติวิสัยในพฤติการณ์เช่นนั้น เจ้าพนักงานตำรวจมองด้วยสายตาไม่สามารถจดจำได้ว่าใครคือจำเลยและระบุรายละเอียดถึงพฤติการณ์ที่วัยรุ่นทุกคนรวมถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ร่วมกันแข่งรถในทางได้ แต่สิ่งที่จะยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกได้ก็คือจำเลยอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมกันแข่งรถในทาง เมื่อพบด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจก็พยายามขับรถหลบหนีและขับรถเข้าไปในซอยตันตามที่เจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนไว้ จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังปิดล้อมและสามารถจับกุมตัวจำเลยกับพวกได้ โดยจำเลยอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวด้วย และขณะที่เข้าจับกุมวัยรุ่นบางคนหลบหนีอยู่ตามพงหญ้า ตามรั้วบ้านอาจารย์ และอยู่ที่ต้นกล้วย หากจำเลยไม่ได้เป็นพวกของกลุ่มวัยรุ่นที่ร่วมกันกระทำความผิดแข่งรถในทางแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตกใจและหลบหนีจนต้องทิ้งรถจักรยานยนต์ นอกจากนั้นตามบันทึกคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพและให้รายละเอียดว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถมาที่ถนนราชดำเนินพบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นกำลังขับรถจักรยานยนต์แข่งขันความเร็วกันอยู่จำเลยจึงได้เข้าร่วมแข่งขันด้วย เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยระบุถึงพฤติการณ์การกระทำของตนเองไปตามความเป็นจริง หากจำเลยไม่ได้ให้การดังกล่าวก็ไม่มีเหตุผลใดที่พนักงานสอบสวนจะบันทึกข้อความดังกล่าวลงไปโดยพลการซึ่งเป็นโทษแก่จำเลยและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ร่วมอยู่ในการถามคำให้การจำเลย ถ้อยคำใด ๆ ที่จำเลยให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคท้าย เพราะความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรนั้น เป็นกรณีความผิดอื่นซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ แต่อย่างใด ประกอบกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไม่ได้ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ โดยปรากฏตามคำเบิกความของว่าที่พันตำรวจตรีวัชรินที่ยืนยันว่าได้สอบถามจำเลยแล้ว จำเลยบอกว่าไม่ต้องการทนายความ ไม่ต้องการนักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการ และไม่ต้องการญาติเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนจำเลย จึงได้จัดให้นายอธิรักษ์ ซึ่งเป็นทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน ในชั้นสอบสวนสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ขู่เข็ญ บังคับ ให้คำมั่นสัญญา หรือหลอกลวงจำเลยแต่อย่างใด โดยนอกจากคำรับสารภาพแล้วจำเลยยังให้ข้อเท็จจริงว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถมาที่ถนนราชดำเนินพบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นกำลังขับรถจักรยานยนต์แข่งขันความเร็วกันอยู่ จำเลยจึงได้ร่วมแข่งขันด้วย หลังจากแข่งขันและปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาทำการจับกุม ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่ระบุว่าพนักงานสอบสวนได้ถามจำเลยแล้วว่าท่านต้องการให้พนักงานสอบสวนจัดให้ท่านให้การต่อหน้าพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาหรือผู้ที่ท่านไว้วางใจหรือไม่ ซึ่งระบุว่าจำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ข้อเท็จจริงประกอบ คำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การ จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แล้ว ศาลจึงนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวมาฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาประกอบกันมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พยานหลักฐานของจำเลยซึ่งมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ขัดต่อเหตุผลไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share