แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง 317 วรรคท้าย เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี จำคุก 7 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร รวมสองกระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 17 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี จำคุก 7 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาพรากผู้เยาว์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว เห็นว่า การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์ข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3