แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามมาตรา 16 แห่ง ป. รัษฎากร บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานประเมินหมายความว่าบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง” ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 35) เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ข้อ 1 กำหนดว่า “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ และแบบแสดงรายการภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร” ดังนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจประเมินรายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 18 แห่ง ป.รัษฎากร เท่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน หรือประเมินภาษีโดยใช้บทบัญญัติมาตราอื่น ๆ และตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น จึงขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บค่าภาษีดังกล่าวซึ่งลงชื่อโดยเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของสำนักงานที่ดินจังหวัด มิใช่กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมิน โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารตกลงรับโอนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินเลขที่ 7670, 7671, 7672 และ 7673 ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ และให้สิทธิโจทก์ซื้อกลับคืนจากธนาคารภายใน 4 ปี นับแต่วันโอนชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นกรณีธนาคารให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะขายที่ดินนั้นคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 ทั้งรูปแบบนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสี่โฉนดจากธนาคาร ก. แก่โจทก์ ได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน หาใช่เป็นการไถ่ทรัพย์ขายฝากคืนแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อที่ดินคืนจากธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลง นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2548 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7671, 7672 และ 7673 ให้แก่บริษัท ล. จำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดทั้งสามแปลงนับได้เพียง 1 ปี จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม มาตรา 91/2 แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4 (6) แห่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่นตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 48-040172 เลขที่ 3/1148-50/49 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสารภี ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 600,000 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 27,776 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 660,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานประเมินหมายความว่าบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง” ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 35) เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ข้อ 1 กำหนดว่า “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ และแบบแสดงรายการภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร” ตามคำสั่งดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากรแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินให้มีอำนาจในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกรณีการรับแบบภาษีธุรกิจเฉพาะและการแสดงรายการภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะเท่านั้น ดังนี้เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจประเมินรายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน หรือประเมินภาษีโดยใช้บทบัญญัติมาตราอื่น ๆ และตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า “เมื่อได้ประเมินแล้ว ให้แจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้” แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มิได้ประเมินภาษีตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร แจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังโจทก์ และตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น จึงขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บค่าภาษีดังกล่าว ซึ่งลงชื่อโดยเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 48 – 104172 เลขที่ 3/1148 -50/48 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาสารภี ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 600,000 บาท และภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น มิใช่กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมิน โจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
การที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 เนื่องจากโจทก์ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารตามจำนวนเงินและภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้กับธนาคาร โจทก์ขอให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารพิจารณาแล้วเห็นควรผ่อนปรนด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ขึ้น โดยเอกสารแนบท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารตกลงรับโอนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินเลขที่ 7670, 7671, 7672 และ 7673 ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ และให้สิทธิโจทก์ซื้อกลับคืนจากธนาคารภายใน 4 ปี นับแต่วันโอนชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นกรณีธนาคารให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะขายที่ดินนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 454 ทั้งรูปแบบนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสี่โฉนดจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แก่โจทก์ ได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน หาใช่เป็นการไถ่ทรัพย์ขายฝากคืนแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้สิทธิขอซื้อที่ดินคืนจากธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงที่ขายให้แก่บริษัทลานนาเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2548 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7671, 7672 และ 7673 ให้แก่บริษัทลานนาเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด จำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดทั้งสามแปลงนับได้เพียง 1 ปี จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ