แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กัน จึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย โดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้ด้วยนั้น จะว่านิติกรรมสัญญานั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ได้ การที่โจทก์ที่ 1 กับพวกนำเงินมาฝากกับจำเลยทั้งสามก็เป็นเพราะต้องการได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตอบแทนและเมื่อเรียกเงินคืนก็จะได้เงินคืนครบจำนวนตามมาตรา 672 เพียงเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันนำเงินที่รับฝากไปหาประโยชน์ในลักษณะการประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง โดยทำเป็นปกติธุระหรือไม่ อย่างไร จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามดำเนินการไปเอง โจทก์ที่ 1 กับพวกมิได้ร่วมรู้เห็นและเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของโจทก์ที่ 1 กับพวก จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าวัตถุประสงค์ในประกอบกิจการหาประโยชน์จากเงินที่รับฝากของกลุ่มออมทรัพย์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายขึ้นอ้างยันโจทก์ที่ 1 กับพวกได้ นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิเรียกเงินฝากคืนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 89,062 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 17,100 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 9,500 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 3,562 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 10,567 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 15,200 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 11,875 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 9,500 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 2,375 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 14,250 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 7,362 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 22,325 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 15,437 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 17,812 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 14,487 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 9,500 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 2,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 75,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 8,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 3,000 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 8,900 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 12,800 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 8,000 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 2,000 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 12,000 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 18,800 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 13,000 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 15,000 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 12,200 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 8,000 บาท และโจทก์ที่ 17 จำนวน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 17 โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 7 และที่ 11 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 ที่ 7 และที่ 11 กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ทนายโจทก์ทั้งสิบเจ็ดยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางช่าย นายสามารถ และนายวีระ ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏว่านางช่ายเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงไม่อนุญาต แล้วตั้งนายสามารถและนายวีระเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 17 เสียด้วย ค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 17 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อปี 2531 ราษฎร์หมู่บ้านหนองแขมน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลสามร้อยยอด กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอปราณบุรี เป็นผู้แนะนำและให้คำปรึกษาช่วงเริ่มแรกมีการรับฝากเงินและปล่อยเงินให้กู้แก่สมาชิก ผู้ฝากเงินจะได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือดอกเบี้ยทุกปี จำเลยทั้งสามให้ฐานะเป็นกรรมการกลุ่มร่วมกันรับฝากเงินจากโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ 8 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 17 ไว้ ระหว่างฝากเงิน โจทก์ที่ 1 กับพวกได้รับดอกเบี้ยตลอดมาทุกปีจนถึงสิ้นปี 2541 จำเลยทั้งสามไม่จ่ายดอกเบี้ย โจทก์ที่ 1 กับพวกจึงขอฝากเงินสะสมคืน แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 กับพวกประการแรกว่า การรับฝากเงินระหว่างฝ่ายโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะเพราะเหตุที่จำเลยทั้งสามนำเงินที่รับฝากไปประกอบธุรกิจอันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 8 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 บัญญัติว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย…การนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กันจึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมายโดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้เห็นด้วยนั้น จะว่านิติกรรมสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมายไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหนองแขมน้อย ตั้งขึ้นโดยมิได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชนให้ช่วยเหลือและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งเสริมให้สมาชิกออมทรัพย์และสะสมเงินรายได้ของตนนำมารวมกันเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มกู้เงินไปประกอบอาชีพโดยผู้ฝากจะได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ลักษณะเป็นการช่วยเหลือกันในกลุ่มเฉพาะสมาชิก มิได้เป็นองค์กรที่มุ่งแสวงหากำไร กรรมการกลุ่มมาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2531 จำเลยที่ 2 เป็นประธานกลุ่ม จำเลยที่ 1 เป็นรองประธาน จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการและเลขานุการ ดำเนินกิจการกลุ่มมาโดยตลอด จำเลยทั้งสามรับฝากเงินจากโจทก์ที่ 1 กับพวกและจากบุคคลอื่น โดยมอบสมุดสัจจะสะสมทรัพย์ไว้เป็นหลักฐาน และตกลงจะให้ดอกเบี้ยตอบแทนแก่ผู้ฝากเป็นรายปี จากนั้นจำเลยทั้งสามจะนำเงินที่รับฝากไปบริหารจัดการหาประโยชน์ โดยดอกเบี้ยที่จ่ายให้ผู้ฝากได้ความจากโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เป็นอัตราไม่เท่ากันทุกปี ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสามจะนำเงินที่รับฝากไปลงทุนหรือหาประโยชน์ได้มากน้อยเท่าใด ซึ่งการตกลงจะให้ผู้ใดกู้เงินกลุ่ม จำเลยที่ 2 จะพิจารณาร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เท่านั้น ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่า การจัดหาประโยชน์จากเงินฝากของกลุ่มออมทรัพย์อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยทั้งสามร่วมกันมาโดยตลอดตั้งแต่จัดตั้งกลุ่มเมื่อปี 2531 จนถึงปี 2541 ที่โจทก์ที่ 1 กับพวกเรียกเงินคืน รวมเวลาเกือบ 10 ปี โจทก์ที่ 1 กับพวกไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การที่โจทก์ที่ 1 กับพวกนำเงินมาฝากกับจำเลยทั้งสามก็เป็นเพราะต้องการได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตอบแทนและเมื่อเรียกเงินคืนก็จะได้เงินคืนครบจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 เท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันนำเงินที่รับฝากไปหาประโยชน์ในลักษณะการประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง โดยทำเป็นปกติธุระหรือไม่ อย่างไร จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามดำเนินการไปเอง โจทก์ที่ 1 กับพวกมิได้ร่วมรู้เห็นในการกระทำของจำเลยทั้งสามและเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของโจทก์ที่ 1 กับพวก จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าวัตถุประสงค์ในประกอบกิจการหาประโยชน์จากเงินที่รับฝากของกลุ่มออมทรัพย์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายขึ้นอ้างยันโจทก์ที่ 1 กับพวกได้ นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิเรียกเงินฝากคืนได้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 กับพวกข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ